Abstract:
การศึกษานี้อาศัยรูปแบบการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวางเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัวกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องทางเพศ เก็บรวบรวมข้อมูลจากนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2538 สุ่มตัวอย่างจำนวน 379 คน (ร้อยละ 10 ของนิสิตทั้งหมด) โดยการคัดเลือกตัวอย่างแบบสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกแบ่งประชากรออกตามกลุ่มคณะและชั้นปีการศึกษา ขั้นตอนที่สองเลือกตังอย่างแต่ละคนโดยความสมัครใจ โดยให้ตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2539
ผลการศึกษาพบว่าตัวอย่างมีระดับสัมพันธภาพในครอบครัวโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางและระดับสูงร้อยละ 36.9 และ 29.0 ตามลำดับ มีระดับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางและระดับสูง ร้อยละ 37.4 และ 36.1 ตามลำดับ มีระดับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องทางเพศในด้านความคิดเห็นต่อลักษณะพฤติกรรมทางเพศอยุ่ในระดับปานกลางและระดับสูงร้อยละ 33.2 และ 37.3 ตามลำดับ ในด้านทัศนคติต่อโรคเอดส์และการป้องกันโรคเอดส์จากเพศสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลางและระดับสูงร้อยละ 39.9 และ 27.0 ตามลำดับ ตัวอย่างมีระดับความรู้เกี่ยวกับการติดต่อของโรคเอดส์อยู่ในระดับปานกลางและระดับสูงร้อยละ 44.3 และ 31.6 ตามลำดับ การศึกษานี้พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัว กับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดโดยรวม ทั้งการรับรู้ความเสี่ยงของการใช้สารเสพติด การรับรู้ความรุนแรงของการใช้สารเสพติด และการรับรู้ประโยชน์ของการหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด กับความคิดเห็นต่อพฤติกรรมทางเพศ กับความรู้เกี่ยวกับการติดต่อของโรคเอดส์ นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะทางประชากรสังคมที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดโดยรวม ได้แก่ คณะ ชั้นปีการศึกษา เพศ ระดับการศึกษาของมารดา และลักษณะการทำกิจกรรมของนิสิต ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรสังคมใด ๆ กับทัศนคติต่อโรคเอดส์และการป้องกันโรคเอดส์จากเพศสัมพันธ์ พบแต่เพียง เพศ มีสัมพันธ์กับความคิดเห็นต่อลักษณะพฤติกรรมทางเพศเท่านั้น การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าควรมุ่งเน้นส่งเสริมสัมพันธฺภาพของบุคคลในครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้นิสิตมีพฤติกรรมในการป้องกันตนเองที่เหมาะสมต่อการป้องกันการติดเชื้อเอดส์