Abstract:
การศึกษานี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงวิเคราะห์ภาคตัดขวาง (Cross-Sectional Analytic Study) เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน โดยพิจารณาในด้านชนิด ปริมาณและความถี่ของการบริโภคและเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภค, ปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับ, ระดับคาเฟอีนในปัสสาวะกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของคนงาน โดยทำการเก็บข้อมูลในโรงงานหลอมโลหั 4 โรง ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2543 โดยการสัมภาษณ์คนงาน 299 คน และเก็บตัวอย่างปัสสาวะ จำนวน 89 คน มาทำการวิเคราะห์โดยใช้เครื่อง High Performance Liquid chromatography (HPLC) และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยโดยใช้ Student t-test และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์โดยใช้ Chi-square test
ผลการศึกษาพบว่า คนงานส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 20-39 ปี การศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่าร้อยละ 72 ลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานธุรการ แม่บ้าน และงานทั่วไป ร้อยละ 40 รองลงมา คือ งานหล่อ หลอม และเจียร ประสบการณ์การทำงานเฉลี่ย 4.6 ปี คนงานส่วนมากร้อยละ 46 เคยเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน คนงานร้อยละ 50 นิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อเอ็ม-150 และนิยมดื่มแบบไม่ผสมกับเครื่องดื่มชนิดอื่น เฉลี่ยดื่มมาเป็นเวลา 5.6 ปี ค่าใช้จ่ายกับการดื่มเฉลี่ย 150 บาท/เดือน คนงานร้อยละ 65 เคยดื่มชา, กาแฟ, โกโก้ และนิบมดื่มกาแฟผงสำเร็จรูป คนงานได้รับปริมาณคาเฟอีนโดยเฉลี่ย 70 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับจากชา, กาแฟ, โกโก้เฉลี่ย 46 มิลลิกรัมต่อวัน เฉพาะปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับจากชา, กาแฟ, โกโก้ เท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานที่แตกต่างกัน (p =0.01) ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานดื่มชา, กาแฟ, โกโก้ เฉลี่ย 55 มิลลิกรัม/วัน ในขณะที่ระดับคาเฟอีนในปัสสาวะ มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานที่ไม่แตกต่างกัน (p = 0.777) ค่าเฉลี่ยของระดับคาเฟอีนในปัสสาวะเท่ากับ 1.6 มิลลิกรัม/ลิตร การดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง และ ชา, กาแฟ, โกโก้ กับการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่มีความแตกต่างกัน (p = 0.067 และ 0.173 ตามลำดับ) แต่การดื่มน้ำอัดลมโคคา-โคล่า, เป๊ปซี่ กับการเดิดอุบัติเหตุจากการทำงานมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ p = 0.004