Abstract:
การศึกษาแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์และรัฐ ในมุมมองและฐานคิดเบื้องต้นทางปรัชญาการเมือง มีวัตถุประสงค์ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้ในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติของมนุษย์ และการเกิดขึ้น/หน้าที่ของรัฐ ในทางปรัชญาการเมือง และเพิ่มความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับรัฐ พลเมือง และอำนาจอธิปไตย รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการศึกษาปรัชญาการเมืองเพื่อใช้อธิบายแนวคิดทางการเมือง และการศึกษารัฐศาสตร์ ด้วยแนวทางประวัติศาสตร์ปรัชญา และวงศาวิทยา อันเป็นการสร้างมุมมองแบบใหม่ที่มีต่อความเข้าใจทฤษฏีการเมืองว่าด้วยรัฐ และการมีอยู่ของรัฐ โดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยในเชิงคุณภาพ แบบตีความเอกสารผ่านกรอบของการศึกษาในเชิงวงศาวิทยา
ผลการศึกษาพบว่า ความคิดทางการเมืองในเรื่องของธรรมชาติมนุษย์ สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นและมีอยู่ของรัฐ โดยเราสามารถวาดภาพเชิงมุมมองของวงศาวิทยาของธรรมชาติของมนุษย์และรัฐตามแนวทางในงานวิจัยครั้งนี้ได้ 4 มุมมอง ได้แก่ รัฐกับมุมมองแบบอำนาจสมบูรณ์สูงสุด รัฐกับมุมมองแบบมวลชน รัฐกับมุมมองแบบรัฐสมมติ และรัฐกับมุมมองแบบอำนาจรัฐธรรมนูญนิยมและอำนาจเชิงสถาปนา นอกจากนี้ งานวิจัยครั้งนี้ ยังเสนอวงศาวิทยาของรัฐในเชิงอุดมการณ์ 6 รูปแบบ ได้แก่ เสรีนิยม พหุนิยม อุดมการณ์ขวาใหม่ ทฤษฏีสัญญาประชาคม อุดมการณ์แบบรัฐนิยมและสาธารณรัฐนิยม และมาร์กซิสต์
การศึกษาในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นประเด็นที่มีความน่าสนใจ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การศึกษาในครั้งนี้ นำไปสู่การขยายขอบเขตของรัฐจากนิยามเรื่องดินแดนหรืออาณาเขต ไปสู่มุมมองทางการเมืองในมิติอื่นๆ ประการที่สอง มุมมองต่างๆ เรื่องรัฐในเชิงวงศาวิทยา เผยให้เห็นถึงขอบเขตของรัฐศาสตร์และการศึกษาทางการเมืองที่กว้างขวางและซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะจากบริบทของสังคมการเมืองสมัยใหม่ ที่ซึ่งรัฐถูกนำมาเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับประเด็นต่างๆ ในโลกการเมืองสมัยใหม่ ทั้งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐที่อยู่ภายในรัฐ อย่างเช่น พลเมือง และภายนอกรัฐ อย่างเช่นองค์การระหว่างประเทศ ประการที่สาม การมองรัฐในเชิงกว้างอย่างแนวทางวงศาวิทยา นำมาสู่การตั้งคำถามถึงอำนาจและขอบเขต รวมทั้งการจัดวางรัฐสมัยใหม่ในบริบทของโลกสมัยใหม่ เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐ และการท้าทายจากอำนาจที่อยู่เหนือกว่ารัฐอย่างสหภาพยุโรป
ในท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาในครั้งนี้นำมาสู่การเปิดพื้นที่ในทางวิชาการขององค์ความรู้เรื่องรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพื้นฐาน จากงานวิชาการที่มีอยู่เดิม รวมถึงการขยายขอบเขตในการอธิบายหลักการพื้นฐานของรัฐ ในแง่มุมเชิงวิชาการและบริบทเชิงปรัชญาที่กว้างขึ้น อันเป็นพื้นฐานให้กับองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมไทยและสังคมโลก