Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทัศนคติและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ผ่านการคัดเลือกประเภทการสอบร่วมเข้ามหาวิทยาลัย และประเภทโควต้า ตลอดจนศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติกับระดับชั้นปีที่ศึกษาของนิสิต ที่ผ่านการสอบคัดเลือกทั้ง 2 ประเภท และในภาพรวม ตัวอย่างประชากรที่ใช้เป็นนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชั้นปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 ที่เรียนอยู่ในปีการศึกษา 2535 จำนวน 200 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามประเภทการคัดเลือกเข้าศึกษา กลุ่มละ 100 คน ทั้งสองกลุ่มมีลักษณะต่าง ๆ คล้ายคลึงกันจากการจับคู่ (Matching) ทั้งนี้คำนึงถึงสถานภาพส่วนตัวและครอบครัวของนิสิต ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพบิดา (มารดา) ระดับชั้นปีที่ศึกษา เพื่อให้ผลที่ได้เกิดจากวิธีการสอนที่ต่างกันแต่เพียงอย่างเดียว ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยคือคะแนนเฉลี่ยสะสม และทัศนคติต่อวิชาชีพการพยาบาล ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลโดยแบบวัดทัศนคติต่อวิชาชีพพยาบาล และทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยวิธีการแจกแจงความถี่ และเปรียบเทียบความแตกต่างด้วยการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ผ่านการคัดเลือกประเภทโควต้าในภาพรวม, ในชั้นปีที่ 3 และ 4 สูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ ประเภทสอบร่วมเข้ามหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ทัศนคติต่อวิชาชีพการพยาบาลของนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งประเภทโควต้า และประเภทสอบร่วมเข้ามหาวิทยาลัย มีทัศนคติต่อวิชาชีพการพยาบาลไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นิสิตคณะพยาบาลศาสตร์มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพการพยาบาลโดยมีความสัมพันธ์กันทางลบกับระดับชั้นปีที่ศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งโดย สรุปรวม และประเภทการสอบร่วมเข้ามหาวิทยาลัย สำหรับนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ประเภทโควต้านั้นทัศนคติต่อวิชาชีพการพยาบาล มีความสัมพันธ์กันทางลบกับระดับชั้นปีที่ศึกษาเช่นกัน แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05