Abstract:
บทความวิจัยเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรวิชาสังคมศึกษาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อรองรับโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาศัยกระบวนทัศน์การพัฒนาหลักสูตรของเชิงสรรค์สร้างองค์ความรู้ เพื่อทบทวนและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการทางกฎหมาย แผนงาน และนโยบาย และโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่ส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในตัวผู้เรียนศูนย์กลางการเรียนรู้ และข้อเสนอการพัฒนาหลักสูตรวิชาสังคมศึกษาตัวชี้วัดและเนื้อหาสาระแกนกลางและการออกแบบการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เหมาะสมกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการศึกษา วิเคราะห์ และตีความ เอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมาย แผนงาน นโยบาย หลักสูตร และแนวคิดต่างๆ จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย แผนงาน และนโยบาย พบว่า ควรปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากเดิมเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ด้านองค์ความรู้ ผู้เรียนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง กฎหมาย นโยบาย เศรษฐกิจ สังคม ภูมิศาสตร์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงพื้นที่ ฯลฯ ในลักษณะเดียวกันกับแผนการศึกษาเดิม ในด้านทักษะ พบว่า ผู้เรียนจำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็นต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ไขปัญหา การเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้านคุณลักษณะที่คาดหวัง พบว่า ต้องการให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสำนึกรักษ์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หวงแหนวัฒนธรรม ภูมิปัญหาท้องถิ่นและของชาติ และสามารถบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองได้ ข้อเสนอด้านตัวชี้วัดและเนื้อหาสาระแกนกลาง ที่ควรเพิ่มเติมจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแกนกลาง พ.ศ. 2551 มีความสอดคล้องกับ 4 สาระเดิม ประกอบด้วย (1) หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม เช่น ความรู้และการวิเคราะห์ด้านการเมือง โครงสร้างการบริหารจัดการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก สิทธิมนุษยชน เป็นต้น (2) เศรษฐศาสตร์ เช่น วิเคราะห์ความสำคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่เชื่อมโยงในระดับและจุลภาค (Micro) การใช้นโยบายการคลังผ่านการลงทุนของภาครัฐ และความร่วมมือกับภาคเอกชน เป็นต้น (3) ประวัติศาสตร์ เช่น ผู้เรียนสามารถอธิบายและเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของโลก ภูมิภาค อนุภูมิภาคและสู่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และ (4) ภูมิศาสตร์ เช่น อิทธิพลต่อทางภูมิศาสตร์ที่ก่อให้เกิดความสำคัญของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกทั้งจากการแข่งขันระดับโลกและภูมิภาค ขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการมีส่วนร่วมหรือให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเชิงรูปธรรมได้ และประยุกต์ใช้มุมมองการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิทธิชุมชนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ การบริหารจัดการหลักสูตรควรใช้ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลสัมฤทธิ์ ควรให้ครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เน้นจัดการเรียนการสอนแบบสัมมนา (Seminar) ในชั้นเรียน เพื่อให้เกิดกระบวยการอภิปราย วิเคราะห์ สังเคราะห์ และตกผลึกทางความคิด ระดมภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ประชาชนเข้ามาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนกับผู้เรียน ส่วนการชี้วัดและประเมินผลควรหลีกเลี่ยงรูปแบบการสอบวัดองค์ความรู้ แต่มุ่งเน้นกิจกรรมกระบวนการกลุ่ม การจัดทำรายงานส่วนบุคคล และมีการประเมินทั้งองค์ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะไปด้วยกัน