Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาบทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา 2) ประเมินประสิทธิภาพบทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ E1/E2 (80/80) 3) ประเมินทักษะการคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหาของนิสิต หลังจากเรียนด้วยบทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา 4) เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนกับคะแนนหลังเรียนด้วยบทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา เป็นการวิจัยและพัฒนาโดยใช้กระบวนการ ADDIE Model ได้แก่ 1) การวิเคราะห์ (A : Analysis) 2) การออกแบบ (D : Design) 3) การพัฒนา (D : Development) 4) การใช้จริง (I : Implementation) และ 5) การประเมินผล (E : Evaluation) ประเมินคุณภาพบทเรียนออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษาและการคิดเชิงระบบ จำนวน 5 คน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เรียนวิชาการคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 40 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) บทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา 2 ) แบบประเมินคุณภาพบทเรียนออนไลน์ 3) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน 4) แบบประเมินทักษะการคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย, ร้อยละ, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, การทดสอบประสิทธิภาพ E1/E2 และ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการพัฒนาได้บทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ประกอบด้วยบทเรียน 4 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) พื้นฐานการคิดเชิงระบบ 2) การคิดวิเคราะห์และเครื่องมือช่วยพัฒนาการคิด 3) องค์กรการเรียนรู้และกระบวนการคิดเชิงระบบ 4) การวิเคราะห์ปัญหาด้วยวิธีการคิดเชิงระบบ ผู้เชี่ยวชาญประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (gif.latex?\bar{X} = 4.15, S.D. = 0.23)
2. บทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพามีประสิทธิภาพ E1/E2 ดังนี้ หน่วยการเรียนที่ 1 = 80.16 /81.00, หน่วยการเรียนที่ 2 = 82.71 /81.75, หน่วยการเรียนที่ 3 = 89.79 /80.25, หน่วยการเรียนที่ 4 = 87.36 /82.50 สรุปได้ว่าประสิทธิภาพบทเรียนออนไลน์ทุกหน่วยการเรียนสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3. ทักษะการคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหาของนิสิต หลังจากเรียนด้วยบทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา เฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก (ร้อยละ 80.21)
4. การเปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนกับคะแนนหลังเรียนด้วยบทเรียนออนไลน์ปฏิสัมพันธ์ เรื่อง การคิดเชิงระบบกับการวิเคราะห์ปัญหา เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05