Abstract:
การศึกษาเรื่อง บทบาทหน้าที่ของวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นมอญในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ของวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นที่มีต่อชุมชนชาวมอญ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลุ่มผู้ให้ ข้อมูลหลักในการวิจัย ได้แก่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชุมชน และผู้ประกอบอาหารพื้นถิ่นมอญ จำนวน 10 คน และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตในกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานประเพณีในพื้นที่วิจัย ผลการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นมอญในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีนั้นมีบทบาทความสำคัญต่อชุมชนในหลาย ๆ ด้าน เช่น บทบาทในการสืบทอดความเชื่อของชาวมอญที่แสดงออกผ่านการใช้อาหารในการประกอบพิธีกรรม การไหว้ผีบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน บทบาทในการสร้างสำนึกร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ข้าวแช่ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ วัฒนธรรมในการประกอบอาหาร บริโภคอาหาร การใช้อาหารในงานประเพณียังทำให้เกิดบทบาทการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เป็นแกนยึดโยงคนในชุมชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยังมีบทบาทด้านการศึกษาเกิดการพัฒนากิจกรรม หลักสูตรการเรียนการสอนภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น รวมถึงก่อให้เกิดรายได้จากการประกอบอาหาร การพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารมอญสะท้อนให้เห็นถึงบทบาททางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย