Abstract:
บริบท มีหลายการศึกษาพบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัดสามารถหาความชันของกระดูกทิเบียส่วนบนหรือกระดูกหน้าแข้งขณะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมซึ่งส่งผลต่อการหาระยะสมดุลในท่างอเข่าและพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าหลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียมแบบอนุรักษ์เอ็นไขว้หลัง
วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของความชันกระดูกหน้าแข้งระหว่างก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนข้อเข่าแบบอนุรักษ์เอ็นไขว้หลังโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด รวมถึงศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงความชันต่อการหาจุดสมดุลในท่างอเข่าหลังการผ่าตัด
วิธีการศึกษา ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลผลการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าย้อนหลังแบบตัดขวาง โดยก่อนผ่าตัดผู้ป่วยมีอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยเป็นข้อเข่าเสื่อม สามารถงอเข่าได้มากกว่า 100 องศา และแพทย์วางแผน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบวิธีอนุรักษ์เอ็นไขว้หลังโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด (computer-assisted surgery-cruciate retaining-total knee arthroplasty, CAS-CR-TKA) ที่ โรงพยาบาลวชิระพยาบาล ตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ.2554 ผู้วิจัยแบ่งข้อเข่าที่ได้รับการผ่าตัดเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม คือ ข้อเข่าที่ได้รับการผ่าตัดแบบ CAS-CR-TKA และหลังผ่าตัดสามารถงอเข่าได้เท่ากับหรือมากกว่าก่อนการผ่าตัด กลุ่มศึกษา คือ ข้อเข่าที่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีผ่าตัดในห้องผ่าตัดจากแบบ CAS-CR-TKA ไปเป็นการ ผ่าตัดแบบตัดเอ็นไขว้หลังออกหรือต้องเปลี่ยนเป็นข้อเข่าเทียมแบบทดแทนเอ็นไขว้หลัง (posterior stabilized-total knee arthroplasty, PS-TKA) เนื่องจากไม่สามารถหาระยะสมดุลในท่างอเข่าขณะผ่าตัดได้ หรือหลังผ่าตัด ผู้ป่วยงอเข่าได้น้อยลงกว่าเดิม 15 องศา ผู้วิจัยศึกษาความชันของกระดูกหน้าแข้งทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดที่ได้จากภาพคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด และภาพถ่ายทางรังสีที่ได้จากก่อนการผ่าตัด และที่ระยะ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือนหลังผ่าตัด
ผลการศึกษา ผู้ป่วยจำนวน 43 ราย มีจำนวน 46 ข้อเข่า แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 11 ข้อเข่า และกลุ่มศึกษา จำนวน 35 ข้อเข่า ความชันของกระดูกหน้าแข้งระหว่างก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดของทั้งสองกลุ่มคือ กลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษาไม่มีความแตกต่างกัน แต่พบว่าการเปลี่ยนแปลงความชันของกระดูกหน้าแข้งระหว่างในกลุ่มควบคุม คือ 4.16 องศา และกลุ่มศึกษา คือ 7.64 องศา ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(p = .01) และ พบว่ากลุ่มศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลงความชัน 7.64 องศา เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถหาจุดสมดุลในท่างอเข่าด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบอนุรักษ์เอ็นไขว้หลังได้
สรุป การเปลี่ยนแปลงความชันของกระดูกหน้าแข้งระหว่างก่อนและหลังผ่าตัดที่มากเกินไป (ในการศึกษานี้คือมากกว่า 7.64 องศา) จะทำให้ไม่สามารถหาระยะสมดุลในท่างอเข่าขณะผ่าตัด จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการผ่าตัดเข่าเทียมแบบอนุรักษ์เอ็นไขว้หลังไปเป็นวิธีอื่นแทน