Abstract:
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในพื้นที่เหตุการณ์รุนแรง จังหวัดปัตตานี กลุ่มตัวอย่างจำนวน 155 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอนและมีคุณสมบัติตรงตามงานวิจัยกำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์ทดสอบสภาพสมองเบื้องต้น 2) แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล 3) แบบสัมภาษณ์ภาวะซึมเศร้า 4) แบบสัมภาษณ์สัมพันธภาพในครอบครัว 5) แบบสัมภาษณ์การรับรู้เหตุการณ์รุนแรง 6) แบบสัมภาษณ์การสนับสนุนทางสังคม และ 7) แบบสัมภาษณ์ความเข้มแข็งทางใจ ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคของแบบสัมภาษณ์ในส่วนที่ 2-7 อยู่ระหว่าง .08-.89 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้าระดับสูง ร้อยละ 75.5 ปัจจัยที่สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การรับรู้เหตุการณ์รุนแรง (β = .349, p <.001) และความเข้มแข็งทางใจ (β = .203, p <.05) โดยสามารถร่วมกันทำนายภาวะซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างได้ร้อยละ 18.7 (R2 = .187, p <.05) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การรับรู้เหตุการณ์รุนแรงและความเข้มแข็งทางใจเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในพื้นที่เหตุการณ์รุนแรง ดังนั้นพยาบาลวิชาชีพ บุคลากรด้านสุขภาพที่ดูแลเกี่ยวกับผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญในด้านจิตใจ โดยคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ