Abstract:
การวิจัยเชิงพรรณาแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและปัจจัยที่ร่วมกันทำนายความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งประกอบด้วย อายุ ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยหญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป มารับบริการในโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จำนวน 77 คน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางคลินิก แบบประเมินความต้องการของผู้ป่วยมะเร็ง และแบบสอบถามความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 48.62 ปี เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 และอยู่ระหว่างติดตามการรักษาเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.5 มีความวิตกกังวลสูง และร้อยละ 14.3 มีอาการซึมเศร้าสูง ผู้ป่วยมีความต้องการดูแลแบบสนับสนุนในด้านการดูแลและการสนับสนุนมากที่สุด
(M = 47.73, SD = 25.46) สำหรับเรื่องที่ต้องการการดูแลมากที่สุดคือ ความกังวลเกี่ยวกับบุคคลที่ใกล้ชิด (ร้อยละ 50.65) และความกลัวเกี่ยวกับการแพร่กระจายของมะเร็ง (ร้อยละ 49.35) นอกจากนี้พบว่า อาการซึมเศร้า (β = 0.34, p < .05) เป็นปัจจัยทำนายความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยสามารถทำนายความต้องการการดูแลได้ ร้อยละ 10.6 (adj. R2 = .106, p < .05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนหลากหลายในแต่ละด้าน พยาบาลควรให้ความใส่ใจในการตอบสนองความต้องการการดูแลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า ควรมีการศึกษาความต้องการการดูแลแบบสนับสนุนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มเติมในพื้นที่ต่าง ๆ และตามระยะวิถีการดำเนินของโรค