Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของรูปแบบการติดตามและจัดการอาการด้วยสื่อดิจิทัลต่อกลุ่มอาการภายหลังสมองบาดเจ็บในผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับเล็กน้อย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับเล็กน้อยซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 60 คน สุ่มอย่างง่ายเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามรูปแบบการติดตามและจัดการอาการด้วยสื่อดิจิทัล ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ประกอบด้วย รูปแบบการติดตามและจัดการอาการด้วยสื่อดิจิทัล วีดิทัศน์กลวิธีการจัดการอาการในรูปแบบการ์ตูนแอนนิเมชั่นใช้หลักการอินโฟกราฟิก และคู่มือการจัดการอาการใช้หลักอินโฟกราฟิก เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และแบบสอบถามกลุ่มอาการภายหลังสมองบาดเจ็บ เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และสถิติทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีกลุ่มอาการภายหลังสมองบาดเจ็บหลังจากได้รับรูปแบบการติดตามและจัดการอาการด้วยสื่อดิจิทัล น้อยกว่าก่อนทดลอง และน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 10.145, p < .001; t = 5.845, p < .001 ตามลำดับ) จากผลการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า รูปแบบการติดตามและจัดการอาการด้วยสื่อดิจิทัลสามารถช่วยลดกลุ่มอาการภายหลังสมองบาดเจ็บได้ พยาบาลควรจะใช้รูปแบบการติดตามและจัดการอาการด้วยสื่อดิจิทัลนี้เพื่อช่วยบรรเทากลุ่มอาการภายหลังสมองบาดเจ็บให้แก่ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับเล็กน้อยก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล