Abstract:
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้า และ 2) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้า ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15 คน และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยใช้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้า จำนวน 1 แห่ง เป็นกรณี ศึกษา และใช้การตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
ผลการศึกษาพบว่า ศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้า มีดังนี้
ศักยภาพที่มาจากจุดแข็งของวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย 1) ศักยภาพด้านความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของสมาชิกและมีการกำหนดโครงสร้างอย่างชัดเจน 2) ความได้เปรียบทางวัตถุดิบที่หลากหลาย คุณภาพดีและต้นทุนต่ำทำให้มีศักยภาพด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ 3) แรงงานที่มีอย่างเพียงพอค่าแรงต่ำ และส่วนใหญ่มาจากคนในชุมชน 4) ศักยภาพด้านการขนส่งสินค้า เนื่องจากแหล่งที่ขายในจังหวัดมีหลายแห่ง หรือการขนส่งแบบทางขนส่งก็มีความสะดวกและรวดเร็วและ 5) ศักยภาพด้านความเชี่ยวชาญและทักษะในการผลิตสินค้า ทำให้ความสามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากต่อวันในขณะที่ศักยภาพที่มาจากโอกาสของวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย 1) ศักยภาพที่เกิดจากจำนวนผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นจากการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2) ศักยภาพที่เกิดจากความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ 3) ศักยภาพที่เกิดจากความช่วยเหลือในด้านเงินทุนจากภาคเอกชน 4) ศักยภาพที่เกิดจากระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกสบาย 5) ศักยภาพที่เกิดจากความสนใจของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และ 6) ศักยภาพที่เกิดจากการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รวดเร็ว ส่วนปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้า ประกอบด้วย 5 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการบริหารจัดการ วิสาหกิจชุมชน 2) ด้านการวิเคราะห์ศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน 3) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ
ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน 4) ด้านการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจชุมชน และ 5) ด้านการกำหนดโครงสร้างของวิสาหกิจชุมชนแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้า ประกอบด้วย 1) ด้านการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย 2) ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 3) ด้านการปรับปรุงร้านค้าออนไลน์ของวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและ 4) ด้านการหาตลาดในชุมชนหรือจังหวัดเพิ่มเติมเพื่อช่องทางการตลาด