Abstract:
งานวิจัยเรื่อง การประพันธ์เพลงระบำปราสาทเขาน้อยสีชมพูเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และประพันธ์เพลงระบำปราสาทเขาน้อยสีชมพู
จากการศึกษาพบว่าปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถูกสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เชื่อว่าเป็นศาสนสถาน ประกอบด้วยปราสาท ๓ หลังคือ ปรางค์ทิศเหนือ ปรางค์องค์กลาง และวิหารทิศใต้ แต่คงเหลือเพียงปรางค์องค์กลางเท่านั้นที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีการขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ที่สาคัญคือพบแผ่นจารึกบ่งบอกถึงอายุการสร้างปราสาทที่เรียกว่า จารึกเขาน้อย ที่ระบุศักราชเก่าที่สุดในประเทศ ในพื้นที่ชุมชนคลองน้ำใส ไม่ปรากฏพบวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นบ้าน ด้านความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวกับปราสาทเขาน้อยสีชมพูพบว่า ชาวบ้านมีประเพณีบุญขึ้นเขา มีการบวงสรวงปราสาทเขาน้อยสีชมพูในช่วงวันขึ้น ๑๕ ค่าเดือน ๖ รวมไปถึงมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารเพล สักการะรอยพระพุทธบาท ก่อเจดีย์ทรายและมีมหรสพรื่นเริง
เพลงระบำปราสาทเขาน้อยสีชมพู ประกอบด้วยทำนองอัตราจังหวะสองชั้น ๓ ท่อน ที่สะท้อนถึง ประการแรก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทเขาน้อยสีชมพู ที่ประกอบด้วยอาคาร ๓ หลัง และประการที่สอง ปราสาทเขาน้อยสีชมพูตั้งอยู่บริเวณภูเขาที่เรียงติดกัน ๓ ลูก ในอดีตปราสาทเขาน้อยสีชมพูที่เคยถูกผืนดินฝังอยู่กลางป่าบนภูเขา จนมีผู้สำรวจขุดค้นและศึกษา ทำให้ปราสาทเขาน้อยสีชมพูกลายเป็นโบราณสถานที่สำคัญ จากนั้นจึงต่อด้วยทำนองเพลงอัตราจังหวะชั้นเดียว แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณีและความเชื่อของคนในชุมชน
การประพันธ์ทำนองเพลงในลักษณะสำเนียงเขมรเป็นหลักที่แสดงถึงการนำเสนอร่องรอยอารยะธรรมเขมรโบราณ และสำเนียงลาวที่สื่อถึงชาวชุมชนคลองน้ำใสที่เป็นชาวไทยญ้อ สังคีตลักษณ์ปรากฏในรูปแบบทำนองเพลง ๔ ท่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกัน จังหวะฉิ่งที่อัตราจังหวะสองชั้นและชั้นเดียวแบบสามัญ จังหวะหน้าทับหน้าทับเขมรและหน้าทับแบบพิเศษในช่วงทำนองเพลงเร็วที่เป็นสำเนียงลาว พบการใช้บันไดเสียงทางชวา และบันไดเสียงทางเพียงออบนตามลำดับ การดำเนินทำนองของบทเพลงเป็นการดำเนินทำนองแบบกึ่งบังคับทาง ไม่ปรากฏพบการบรรเลงแบบอัตลักษณ์เข้าแบบ เพลงระบาปราสาทเขาน้อยสีชมพูจึงเป็นผลงานสร้างสรรค์ด้านดุริยางคศิลป์สื่อถึงตัวโบราณสถานปราสาทเขาน้อยสีชมพู ชาวไทยญ้อในชุมชนคลองน้ำใสที่สามารถเชื่อมโยงเอาวิถีชีวิต ชุมชน ความเชื่อประเพณีและศิลปกรรมเข้าไว้ด้วยกัน