Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยด้านส่วนบุคคล ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ ด้านการทำงาน และด้านสังคมที่ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าของแรงงานไทยในระบบในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มคนวัยแรงงานที่ถือสัญชาติไทยที่มีอายุอยู่ระหว่าง 18 ถึง 60 ปี ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมจำนวนทั้งสิ้น 455 ราย การสุ่มตัวอย่างใช้แบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามภาวะซึมเศร้า แบบสอบถามคุณภาพการนอนหลับ แบบสอบถามความเครียดจากการทำงาน แบบสอบถามสมดุลชีวิตกับการทำงาน และแบบสอบถามการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยลอจิสติก ผลการวิจัย พบว่า ร้อยละ 40.44 ของแรงงานตัวอย่างเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ผลการวิเคราะห์การถดอถอยลอจิสติก พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของแรงงานไทยในระบบในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ สถานภาพสมรม สถานะทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมการออกกำลังกาย คุณภาพการนอนหลับ ความเครียดจากการทำงาน และแรงสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ อย่างไรก็ดี ผลการศึกษากลับพบว่า ตัวแปรเพศ อายุ ระดับการศึกษา ดัชนีมวลกาย โรคและการเจ็บป่วย ลักษณะงาน การทำงานเป็นกะ สมดุลชีวิตกับการทำงาน และจังหวัดที่ทำงาน ไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของแรงงานไทยในระบบในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแต่อย่างใด"