Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อจัดกลุ่ม แบ่งประเภท และจำแนกโครงสร้างและเนื้อหาสื่อสังคมออนไลน์ของวัดในภาคตะวันออก 2) เพื่อประเมินความเห็นและประโยชน์จากบทบาทออนไลน์ของวัดฯ ต่อสังคม 3 เพื่อค้นหาและพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์สำหรับวัดฯ วิธีดำเนินการวิจัยเป็นแบบผสมระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างและกลุ่มเป้าหมายอยู่ภายในจำนวน 255 วัด จากประชากร 463 วัด ด้วยการเลือกแบบเจาะจงและโควตา เก็บรวบรวมข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก และการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา พัฒนารูปแบบตามผลที่ได้จากการสังเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
1. เพจเฟซบุ๊กคือสื่อสังคมออนไลน์ที่วัดนิยมใช้มากที่สุด มีโครงสร้างสำเร็จรูปที่บริษัทเจ้าของ เพจเฟซบุ๊กออกแบบไว้แล้ว แบ่งเป็น 2 แบบ คือ เป็นทางการที่บุคคลสร้างขึ้น และไม่เป็นทางการที่ระบบสร้างขึ้น ซึ่งทางวัดอาจไม่รับรู้ เนื้อหาโดยส่วนมากเป็นรูปภาพกิจกรรมและมีคำอธิบายให้น่าสนใจ ไม่ขัดกฎหมาย พระธรรมวินัย และจารีต
2. ความเห็นเกือบทั้งหมดแสดงออกในทางเห็นด้วยและชื่นชอบด้วยการกดถูกใจหรือคอมเม้นท์ “สาธุ” เพราะผู้ติดตามเป็นผู้ที่มีความชอบในเรื่องเดียวกัน ส่วนประโยชน์ที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวัดได้อย่างกว้างขวาง ประหยัด และสะดวก ทำให้ผู้คนรู้และร่วมทำบุญได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที 3. เพจเฟซบุ๊ก มีองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ 1) หัวเพจเป็นภาพหน้าปก 2) ด้านขวาของเพจเป็นสารบัญ ประกอบด้วย ชื่อเพจ หน้าหลัก โพสต์ รีวิว รูปภาพ วีดิโอ งานกิจกรรม เกี่ยวกับ ชุมชน 3) ด้านซ้ายของเพจแสดงเพจที่ตนดูแล และรายชื่อผู้ติดต่อ 4) ส่วนกลาง แสดงเนื้อตามสารบัญและที่นำเสนอโดยระบบ ส่วนการสร้างเพจที่เป็นทางการมี 9 ขั้นตอน เริ่มจากการมีบัญชีเฟซบุ๊กเป็นอันดับแรก
สื่อสังคมออนไลน์ที่เหมาะสมกับวัดมากกว่าเพจเฟซบุ๊กคือเว็บไซต์ จึงควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาเว็บไซต์สำหรับ โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรมีการส่งเสริมเพื่อให้การเผยแผ่ธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวาง