Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์ไทยรูปแบบระบำจากแหล่งโบราณ สถานที่สำคัญในจังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารผลงานทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และนาฏศิลป์ไทย การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากแหล่งโบราณสถานปราสาทเขาน้อยสีชมพู การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย นักโบราณคดี ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการในการสร้างสรรค์การแสดง ผลการวิจัยพบว่าปราสาทเขาน้อยสีชมพูเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จากอักษรบนหลักศิลาจารึกโบราณ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ ได้แก่ ทับหลังศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก ศิลปะแบบไพรกเมง ประติมากรรมรูปบุคคล ตุ๊กตาดินเผาสมัยเกาะแกร์ ฐานศิวลึงค์แบบตรีมูรติ และเครื่องสำริดอีกหลายรายการ ผู้วิจัยกำหนดจินตภาพรูปบุคคลอยู่เหนือตัวมกรที่ปรากฎบนทับหลังของปราสาทเขาน้อย จึงได้ออกแบบการแสดงให้เป็นบุรุษในรูปแบบขอมโบราณ ที่แสดงท่าทางการร่ายรำตามหลักฐานที่ปรากฎจากภาพจำหลัก ลายเส้น โครงสร้างของปราสาท ตลอดจนโบราณวัตถุที่ค้นพบและกำหนดโครงสร้างสัญลักษณ์ ในการออกแบบท่าทาง การออกแบบแถวในการแสดงตามโครงเรื่องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธา การบูชาตามหลักศาสนาฮินดูลัทธิไศวะนิกายและไวษณพนิกายที่กล่าวถึงการสรรเสริญพระวิษณุ ผ่านโครงสร้างท่าทางแบบขนบผสมผสานกับหลักแนวคิดของการสร้างสรรค์ระบำโบราณคดีกรมศิลปากรและการออกแบบสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายประกอบการแสดงที่ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่งคือ ท่ารำ ดนตรี เครื่องแต่งกายที่จะสามารถสื่อสารให้ผู้รับสารเชื่อได้ว่า การแสดงระบำโบราณคดีที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้สามารถถ่ายทอดความหมายและเล่าเรื่องราวของมนุษย์ในยุคนั้น ๆ ได้ตามแนวคิดที่ผู้สร้างสรรค์กำหนดไว้