Abstract:
บทนำ อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นอาการที่พบได้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งส่งผลต่อพยากรณ์โรคของผู้ป่วย วัตถุประสงค์ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมอุบัติการณ์ พยาธิกำเนิด พยาธิสรีรวิทยา ผู้ป่วยติดเชื้อที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแต่กำเนิด การรักษาและผลข้างเคียงจากการรักษา รวมถึงแนวทางป้องกันผลข้างเคียงดังกล่าว วิธีการศึกษา ทำการค้นคว้ารวบรวมวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องผ่านฐานข้อมูล Pubmed และ Google ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2563 ผลการศึกษา พบว่ามีอุบัติการณ์การเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้อยละ 5.9-16.7 พยาธิกำเนิดและพยาธิสรีรวิทยาอาจอธิบายได้จากการบาดเจ็บโดยตรงของกล้ามเนื้อหัวใจ ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ภาวะอักเสบทั่วร่างกาย ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และผลข้างเคียงจากการรักษา ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแต่กำเนิดที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษในช่วงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา คือ ผู้ป่วยในโรค Long QT syndrome และ Brugada syndrome การใช้ยารักษาการติดเชื้อด้วย hydroxychloroquine, chloroquine, azithromycin และ lopinavir/ritonavir อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะผ่านกลไก QT prolongation การเฝ้าติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นระยะ หยุดยาเมื่อมีภาวะ QT prolongation รักษาระดับเกลือแร่ในร่างกายให้เป็นปกติ และหยุดยาอื่นที่มีความเสี่ยงให้เกิด QT prolongation สามารถลดความเสี่ยงการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ สรุป ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถพบได้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และส่งผลต่อพยากรณ์โรคของผู้ป่วย การตระหนักถึงความสำคัญของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและจัดการความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะดังกล่าวจะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 209 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ