Abstract:
โครงการวิจัยการออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริการสำหรับชุมชนหัตถกรรมท้องถิ่นผ้าจก ไทยวน จังหวัดราชบุรี เพื่อขยายกลุ่มงานผลิตภัณฑ์ออกแบบตกแต่งภายในด้วยนวัตกรรมขึ้นรูปผ้าด้วยแม่พิมพ์และสิ่งทอสีเขียว เป็นโครงการที่นำเอาภูมิปัญญางานหัตถกรรมท้องถิ่นมาใช้ร่วมกับนวัตกรรมการออกแบบในระบบอุตสาหกรรมที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยตนเอง เพื่อเป็นการเปิดตลาดสินค้าใหม่ ๆ และมีการนำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ รวมไปถึงการใช้แนวคิดการออกแบบการบริการมาช่วยจัดการและบริหารทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด โดยกระบวนการทำการวิจัยเป็นไปตามรูปแบบของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Studies) เป็นวิธีการศึกษาของสาขาวิชามานุษยวิทยา (Anthropological Method) และมีแนวทางการดำเนินงานตามกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) การเก็บรวบรวม ข้อมูลมาจากการลงพื้นที่สำรวจ การสัมภาษณ์เชิงลึก รวมไปถึงการทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชาวบ้านช่างฝีมือ ผู้ประกอบการหัวหน้ากลุ่มนักท่องเที่ยว อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบ เพื่อหาแนวทางการพัฒนางานออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์ การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการนำไปสู่การตอบวัตถุประสงค์ของโครงการได้ดังต่อไปนี้ 1) เพื่อศึกษาและนำเอาเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าทอจก ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอด ขยายกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มศักยภาพในการผลิต และ 2) เพื่อศึกษาและพัฒนาการผลิตวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดของนวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว (Eco - Innovative textile) และการควบคุมดูแลระบบการจัดการธุรกิจด้วยการออกแบบการบริการที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสดำเนินไปสู่การขายได้ทั้งในและต่างประเทศ ผลผลิตของโครงการนี้ที่แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ 1) ก่อให้เกิดแนวทางการผลิตของ ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมโดยนวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว ได้ผลงานการย้อมฝ้ายและไหมธรรมชาติด้วยสีสกัดจากธรรมชาติที่มีความสวยงาม มีคุณค่าและปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 2) ผลงานผลิตภัณฑ์เพื่อการออกแบบตกแต่งภายในที่ประกอบไปด้วย ตู้เก็บของ ชั้นวางของ งานตกแต่งผนัง งาน partition wall โต๊ะข้าง โคมไฟ และงานโครงสร้างบล็อกปูน จากการผสมผสานเทคนิควิธีการขึ้นรูปผ้าในแบบต่าง ๆ และ 3) การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร แนวทางการออกแบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ รวมไปถึงต้นแบบธุรกิจที่สามารถนำเอาไปพัฒนาต่อยอดได้อีกต่อไป สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อยอดในอนาคต สามารถทำได้โดยการนำเอากระบวนทำงานจากโครงการวิจัยนี้มาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเครื่องมือ เทคนิควิธีการผลิต รวมไปถึงการกระจายสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ จัดให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือกับกลุ่มนักออกแบบ ศิลปิน และ นักเรียน นักศึกษาด้านการออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ต่อกัน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนหัตถกรรมท้องถิ่นที่ยั่งยืนต่อไป