Abstract:
แนวคิดเชิงทฤษฎีทางด้านงานวิจัยทางการบัญชีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสรุปและอภิปรายประเด็นสำคัญต่างๆ ประกอบด้วย 1) ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ทฤษฎีผู้มีส่วนได้เสีย ทฤษฎีมูลค่าของผู้มีส่วนได้เสีย ทฤษฎีความเป็นพลเมืองขององค์กร และทฤษฎีการปฏิบัติงานเพื่อสังคมขององค์กร 2) วิวัฒนาการงานวิจัยทางด้านการบัญชีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เริ่มต้นจากการบัญชีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นการรายงานถึงต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดจากกิจกรรมขององค์การที่ส่งผลต่อชุมชน รวมถึง
การรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการเงินและข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับการเงินก็ได้ ต่อมาช่วงหลังปี 2000 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการบัญชีสีเขียวหรือการบัญชีสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ต้นทุน ประโยชน์ที่ได้รับ และผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) การเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมและ
สิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมมากขึ้น โดยการออกแบบแนวทางในการรับรู้ต้นทุนสังคมและสิ่งแวดล้อม การรับรู้หนี้สินด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และการเปิดเผยข้อมูลและรายงานต่อบุคคลภายนอก 4) สาเหตุและผลกระทบจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เล็งเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมีประโยชน์ต่อราคาหุ้นของกิจการจึงมีความจำเป็นที่ทุกกิจการจะต้องทำการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว 5) ภาษีสิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจทางด้านภาษี ถือเป็นความพยายามคิดค้นวิธีการที่จะให้ผู้สร้างปัญหา ก่อมลพิษ หรือทำลายทรัพยากรได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากร โดยให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยในการกำกับดูแล