Abstract:
ผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอกที่ใส่ท่อระบายทรวงอกที่มีพฤติกรรมการฟื้นฟูสภาพปอดที่ไม่เหมาะสมจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดแฟบ ปอดติดเชื้อได้ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาการปวด ความวิตกกังวล และความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพปอดกับพฤติกรรมการฟื้นฟูสภาพปอดในผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอกที่ใส่ท่อระบายทรวงอก กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอกที่ได้รับการใส่ท่อระบายทรวงอกที่เข้าพักรักษา ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี จำนวน 84 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม ถึง ธันวาคม 2561 เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามอาการปวด แบบสอบถามความวิตกกังวล แบบสอบถามพฤติกรรมการฟื้นฟูสภาพปอด แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพปอด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยอาการปวดในระดับน้อย (M = 4.72, SD = 1.67) คะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลในระดับต่ำ (M = 7.19, SD = 4.21) คะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพปอดในระดับต่ำ (M = 11.00, SD = 4.54) และมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการฟื้นฟูสภาพปอดในระดับปานกลาง (M = 30.27, SD = 7.59) อาการปวดและความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมการฟื้นฟูสภาพปอดในผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอกที่ใส่ท่อระบายทรวงอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.34, p < .05; r = -.21, p < .01 ตามลำดับ) ส่วนความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพปอดไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการฟื้นฟูสภาพปอดในผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอกที่ใส่ท่อระบายทรวงอก (r = .06, p >.05) ผลจากการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะว่า บุคลากรสุขภาพควรมีการประเมินอาการปวดและความวิตกกังวล และการจัดการอาการปวดและความวิตกกังวลให้มีประสิทธิภาพในระยะเฉียบพลัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยบาดเจ็บทรวงอกที่ใส่ท่อระบายทรวงอกมีพฤติกรรมการฟื้นฟูสภาพปอดที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง