Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเป็นชายขอบของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพื้นที่โดยรอบอุทยานฯ และผลกระทบจากการถูกทำให้เป็นชายขอบ ซึ่งเกิดจากอำนาจรัฐ ทุน และวัฒนธรรมสมัยใหม่ รวมทั้งศึกษาปฏิกิริยาต่าง ๆ ของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่มีต่อการจัดการป่าและที่ดินของรัฐ รวมทั้งศึกษานิเวศวิทยาชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องปัญหาการจัดการทรัพยากรป่าและที่ดินในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม จุดยืนทางญาณวิทยาของผู้วิจัยจึงเป็นจุดยืนของเศรษฐศาสตร์การเมืองแนววิพากษ์ ที่มุ่งสลายมายาคติ และเปลี่ยนแปลงสังคม โดยผู้วิจัยยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้ถูกกดขี่ขูดรีด โดยวิธีวิทยาการวิจัย จะเป็นการวิจัยในระดับพื้นที่ เพื่อการต่อต้าน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการศึกษาผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงบูรณาการ ผลการศึกษาพบว่ากะเหรี่ยงแก่งกระจานนั้นต้องกลายเป็น “คนตกขอบ” เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของรัฐส่วนกลางในการจัดการทรัพยากร ที่ทำให้ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และนำมาซึ่งการสูญเสียอัตลักษณ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำรงชีวิต รวมทั้งประเพณีต่าง ๆ ที่สูญหายไป ยิ่งกว่านั้นการเข้ามาจัดการทรัพยากรป่าของรัฐ ยังทำให้กะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากกลไกอำนาจรัฐที่มีลักษณะเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับอพยพ การเผาบ้านเรือน รวมทั้งการฆาตกรรมแกนนำ นอกจากนี้การรุกคืบของทุนนิยมก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้กะเหรี่ยงแก่งกระจานต้องตกอยู่ในภาวะ “ตกขอบ” เมื่อกะเหรี่ยงซึ่งเคยมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่สามารถทำการเกษตรแบบยังชีพได้ ต้องกลายมาเป็นแรงงานรับจ้างนอกพื้นที่ บางส่วนยังได้รับค่าจ้างน้อยว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย เนื่องจากบางคนยังไม่มีบัตรประชาชน หรือต้องกลายเป็นแรงงานนอกระบบภายใต้ความช่วยเหลือของมูลนิธิหนึ่งที่เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้แก่สตรีกะเหรี่ยง และต้องกลายเป็นชนชั้นแรงงานเสี่ยง (precariat) แม้ว่าจะสร้าง ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้แก่กะเหรี่ยงที่เข้าไปร่วม แต่สิ่งที่ต้องแลกคือการไม่สามารถสืบสานลายผ้าทอที่เป็นอัตลักษณ์ของตนได้ เนื่องจากต้องทอผ้าตามลวดลายที่ตลาดต้องการ และได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นชาวบ้านที่เข้าโครงการส่งเสริมอาชีพก็ต้องใช้เวลาไปกับการทอผ้าตามลายที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้การเข้ามาของทุนข้ามชาติที่เข้ามาทำเหมืองหลายประเภทก็ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงทั้งสิ้น รวมทั้งการเข้ามาทำไม้ของบริษัททำไม้ตามนโยบายสัมปทานป่าของรัฐบาลในอดีต ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าในแก่งกระจานสูญเสียไป และทำให้กะเหรี่ยงต้องตกเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้การตีตราต่าง ๆ ที่ลดทอนความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน ก็ทำให้กะเหรี่ยงส่วนใหญ่ไม่ต้องการแสดงตัวตน จึงทำให้วัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามากลืนกินวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ดั้งเดิมได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามเมื่อมีความพยายามรวมตัวกันเป็นองค์กรชาวบ้านในนามเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการรื้อฟื้นความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของกะเหรี่ยง รวมทั้งได้รณรงค์ผลักดันเชิงนโยบาย ก็ทำให้ความภาคภูมิใจในวิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม รวมทั้งอัตลักษณ์ของกะเหรี่ยงค่อย ๆ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในที่สุด