Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ
มีวัตถุประสงค์การวิจัยดังนี้ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมสารสนเทศและพฤติกรรมนวัตกรรมของนิสิตระดับ
ปริญญาตรี 2) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมสารสนเทศของนิสิตระดับปริญญาตรี จำแนกตามเพศ ชั้นปี
และสาขาวิชา 3) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมนวัตกรรมของนิสิตระดับปริญญาตรี จำแนกตามเพศ ชั้นปี
และสาขาวิชา 4) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมสารสนเทศและพฤติกรรมนวัตกรรมของนิสิตระดับปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1-4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นตามสัดส่วนของนิสิตแต่ละชั้นปี จำนวน 359 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ ทดสอบค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.93 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติประมวลผลข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ F-test วิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s correlation coefficient: r) ระหว่างตัวแปร ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05
ผลการวิจัยพบว่า 1) พฤติกรรมสารสนเทศและพฤติกรรมนวัตกรรม ของนิสิตระดับปริญญาตรี
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีค่าเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (̅ = 3.58 และ ̅ = 3.57) 2) นิสิตระดับปริญญาตรีที่มีเพศต่างกันมีพฤติกรรมสารสนเทศไม่แตกต่างกัน 3) นิสิตระดับปริญญาตรีที่มีชั้นปีต่างกันมีพฤติกรรมสารสนเทศด้านการแสวงหาสารสนเทศแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนิสิตชั้นปีที่ 1 และนิสิตชั้นปีที่ 4 มีพฤติกรรมสารสนเทศด้านการแสวงหาสารสนเทศมากกว่านิสิตชั้นปีที่ 2 4) นิสิตระดับปริญญาตรีที่มีสาขาวิชาต่างกันมีพฤติกรรมสารสนเทศด้านความต้องการสารสนเทศและด้านการแสวงหาสารสนเทศแตกต่างกัน โดยนิสิตสาขาวิชากลุ่มสังคมศาสตร์มีพฤติกรรมสารสนเทศด้านความต้องการสารสนเทศมากกว่านิสิตสาขาวิชากลุ่มมนุษยศาสตร์ และนิสิตสาขาวิชากลุ่มภาษามีพฤติกรรมสารสนเทศด้านการแสวงหาสารสนเทศมากกว่านิสิตสาขาวิชากลุ่มมนุษยศาสตร์ 5) นิสิตระดับปริญญาตรีที่มีเพศต่างกันและชั้นปีที่ต่างกันมีพฤติกรรมนวัตกรรมทั้งโดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน 6) นิสิตระดับปริญญาตรีที่มีสาขาวิชาต่างกันมีพฤติกรรมนวัตกรรมด้านการเป็นผู้นำความคิดแตกต่างกัน โดยนิสิตสาขาวิชากลุ่มสังคมศาสตร์มีพฤติกรรมนวัตกรรมด้านการเป็นผู้นำความคิดมากกว่านิสิตสาขาวิชากลุ่มมนุษยศาสตร์ 7) พฤติกรรมสารสนเทศกับพฤติกรรมนวัตกรรมของนิสิตระดับปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งโดยรวม (r = .698) และรายด้าน