Abstract:
แทนซาไนท์ คือ อัญมณีที่มีชื่อเสียงมากชนิดหนึ่งในการค้าอัญมณี แทนซานท์มีสีน้ำเงินม่วงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นพลอยชนิดซอยไซท์ ประเภทแคลเซียมอะลูมิเนียมไฮดรอกโซโรซิลิเกตในกลุ่มอิพิโดท เนื่องจากแทนซาไนท์มีสีสวยและหายากในธรรมชาติ ดังนั้นแทนซาไนท์ส่วนใหญ่ที่พบในการค้าอัญมณีจะมาจากการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือการเผามาจากซอยไซท์เพื่อปรับปรุงสีให้ได้สีน้ำเงินถึงม่วง ณ เวลานี การปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนในซอยไซท์และแทนซาไนท์ยังไม่สามารถตรวจพบได้ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี คือการจำแนกซอยไซท์ที่มาจากการเผาให้ได้สีน้ำเงินกับแทนซาไนท์ธรรมชาติด้วยการวิเคราะห์ลักษณะทางสเปกโทรสโกปีและการวิเคราะห์ด้วยเคโมเมทริกซ์
งานวิจัยนี ทำการปรับปรุงคุณภาพสีของแทนซาไนท์ธรรมชาติและซอยไซท์จากแทนซาเนียด้วยการเผาภายใต้สภาวะบรรยากาศที่อุณหภูมิ 400-700 องศาเซลเซียส สีของตัวอย่างซอยไซท์หลังเผาเปลี่ยนจากสีเหลืองอมน้ำตาลเป็นสีม่วงอมน้ำเงินภายใต้การเผาทุกอุณภูมิ การวิเคราะห์ตัวอย่างทั้งก่อนและหลังเผาจะวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือพื้นฐานในการวิเคราะห์อัญมณีและทำการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงสีและความแตกต่างของสีด้วยการวัดสีระบบ CIELAB วิเคราะห์สาเหตุการเปลี่ยนสีและองค์ประกอบทางเคมีด้วยเทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนส์สเปกโทรสโกปีแบบกระจายพลังงาน ยูวีวิสิเบิลสเปกโทรสโกปี ฟรูเรียร์ทรานสฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี ฟลูออเรสเซนส์สเปกโทรสโกปี และรามานสเปกโทรสโกปี ผลการเปลี่ยนสีของตัวอย่างและคุณสมบัติของสเปกตรัมเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพสีและการวิเคราะห์ตัวอย่างแทนซาไนท์ที่ผ่านการเผา รามานสเปกตรัมสามารถนำมาใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ด้วยเคโมเมทริกซ์ด้วยวิธี PCA ซึ่งให้ข้อมูลที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบทางเคมีที่ใช้จำแนกความแตกต่างของซอยไซท์ที่ผ่านการเผาและแทนซาไนท์สีธรรมชาติได้