Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการประเมินสภาวะสุขภาพตามวัฒนธรรมของผู้รับบริการข้ามวัฒนธรรม ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้เทคนิคเดลฟาย ผู้ให้ข้อมูลคือผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 18 คน ได้มาจากการคัดเลือกแบบเจาะจง 6 คน และวิธีบอกต่อ 12 คน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการพยาบาล มีการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป มีประสบการณ์การดูแลผู้รับบริการข้ามวัฒนธรรมอย่างน้อย 5 ปี และ/หรือ มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับการพยาบาลข้ามวัฒนธรรมปรากฏในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2560) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แนวทางการสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน (1) การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 รอบ โดยรอบที่ 1 เพื่อระบุองค์ประกอบ และมิติทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อสภาวะสุขภาพของผู้รับบริการ แล้วนำข้อมูลไปจัดกลุ่มทำเป็นแบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับ รอบที่ 2 นำแบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่าที่ได้จากรอบที่ 1 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตอบแบบสอบถามแล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ และรอบที่ 3 นำข้อมูลในรอบที่ 2 มาสรุปแล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันความคิดเห็นอีกครั้ง หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุป โดยกำหนดค่าที่ยอมรับได้ต้องมีค่ามัธยฐานเท่ากับหรือมากกว่า 3.50 และมีค่าพิสัยระหว่างควอไทล์น้อยกว่า 1.50 และ (2) พัฒนารูปแบบการประเมินสภาวะสุขภาพตามวัฒนธรรมของผู้รับบริการข้ามวัฒนธรรม โดยสอบถามความคิดเห็นจากพยาบาลวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญให้ความหมายของสภาวะสุขภาพตามมิติทางวัฒนธรรม คือ การดำเนินกิจกรรมในการดำรงชีวิตของผู้รับบริการ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แตกต่างกันตาม วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม โดยสรุปเป็น รูปแบบการประเมินสภาวะสุขภาพตามวัฒนธรรมของผู้รับบริการข้ามวัฒนธรรม ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ 7 มิติ คือ (1) องค์ประกอบด้านจิตวิญญาณ มี 1 มิติ คือ มิติด้านค่านิยมและความเชื่อของผู้รับบริการ (2) องค์ประกอบด้านสังคม มี 1 มิติ คือ มิติด้านองค์กรทางสังคม (3) องค์ประกอบด้านจิตใจ มี 3 มิติ คือ มิติด้านการสื่อสาร มิติด้านการเปิดพื้นที่ส่วนตัว และมิติด้านเวลา และ (4) องค์ประกอบด้านร่างกาย มี 2 มิติ คือ มิติด้านการเปลี่ยนแปลงส่วนบุคคล และ มิติด้านการควบคุมสิ่งแวดล้อม โดยผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าองค์ประกอบทั้ง 4 องค์ประกอบ และมิติทางวัฒนธรรม 6 มิติ มีความสำคัญและความเหมาะสมเพื่อใช้ในการประเมินสภาวะสุขภาพตามวัฒนธรรมของผู้รับบริการข้ามวัฒนธรรมในระดับมากที่สุด ยกเว้นมิติด้านการควบคุมสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่ามีความสำคัญและความเหมาะสมในระดับมาก การวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้รูปแบบการประเมินสภาวะสุขภาพตามวัฒนธรรมของผู้รับบริการ ส่งเสริมในการได้มาซึ่งข้อมูลสภาวะสุขภาพของผู้รับบริการอย่างครบถ้วนเป็นองค์รวม พยาบาลวิชาชีพสามารถนำข้อมูลที่ไปวางแผนการพยาบาล และให้การพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น