Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพน้ำ และแพลงก์ตอนบริเวณประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน – อ่าวประดู่: กรณีศึกษานิเวศน์ชายฝั่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยทั้งสิ้น 12 เดือน โดยทำการเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง เป็นตัวแทนแต่ละฤดูกาล ได้แก่ ฤดูหนาว (เดือนมกราคม) ฤดูร้อน (เดือนเมษายน) และฤดูฝน (เดือนกรกฏาคม) เก็บตัวอย่างน้ำในช่วงเวลาน้ำขึ้นพารามิเตอร์ที่เก็บคือ แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ธาตุอาหาร (แอมโมเนีย ไนไตร์ท ไนเตรต ปริมาณฟอสเฟตละลายน้ำ และ ปริมาณซิลิเกตละลายน้ำ) ตะกอนแขวนลอย อุณหภูมิ ความเค็ม ค่าดีโอ พีเอช ความลึก ความโปร่งแสง เป็นต้น ในการเก็บตัวอย่างแต่ละครั้งระบุให้ตรงพิกัดโดยเครื่อง GPS เก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ โดยการตักน้ำจากแต่ละสถานี ๆ ละประมาณ 50 ลิตร ลึกลงไปจากผิวน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร นำน้ำมากรองผ่านถุงแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ขนาด 21 และ 55 ไมครอน ตามลำดับ
ผลการศึกษาพบว่า พบแพลงก์ตอนพืช 54 สกุล มาจาก 3 ดิวิชั่น ได้แก่ ดิวิชั่น Cyanotphyta
Chlorophyta และ Chromophyta สกุลที่เด่นในการศึกษานี้ ได้แก่ Chaetoceros sp., Rhizosolenia sp., Bacteriastrum sp., Psuedosolenia sp., Pseudonitzshia sp., Oscillatoria sp. และ Thalassiothrix sp. ความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชเฉลี่ยเท่ากับ 307,302 เซลล์ต่อลิตร ความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชสูงสุดพบในฤดูร้อนเท่ากับ 1.55 x 105 เซลล์ต่อลิตร ความหนาแน่นแพลงก์ตอนพืชน้อยที่สุดพบในฤดูหนาว เท่ากับ 6.22 x 104 เซลล์ต่อลิตร เมื่อทดสอบทางสถิติพบความแตกต่างความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชตามฤดูกาลอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบความแตกต่างตามสถานี อีกทั้งพบแนวโน้มความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชใกล้กับชายฝั่ง 1 – 2 กิโลเมตรมีมากกว่าห่างจากชายฝั่ง ค่าความเข้มข้นของแอมโมเนีย ไนไตร์ท และไนเตรท สูงสุดพบในฤดูร้อน เท่ากับ 0.0172 ± 0.005 0.0028 ± 0.002 และ 0.0392 ± 0.027 mg-N/L ตามลำดับ การศึกษาสหสัมพันธ์พบว่าอุณหภูมิและพีเอชแปรผกผันกับความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืช ในขณะที่ค่าความเค็ม ออกซิเจนละลายน้ำ ปริมาณแอมโมเนีย ไนไตร์ท และไนเตรท มีความแปรผันตรงกับความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืช ผลการศึกษานี้สรุปได้ว่าความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชที่พบขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมและระยะเวลาการศึกษาสำหรับแพลงก์ตอนสัตว์พบจากการศึกษาทั้งหมด 8 ไฟลัม ได้แก่ Phylum Protozoa Cnidaria Chaetognatha Annelida Arthropoda Mollusca Echinodermata และ Chordata โดยพบ Phylum Arthropoda มากที่สุดทุกสถานีและทุกระยะทางตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา โดยสกุลที่เด่นได้แก่ โคพีพอดกลุ่มคาลานอยด์ (Calanoid copepods) พบได้มากที่สุดในทุกฤดูกาลที่เก็บตัวอย่าง และทุกสถานีตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา โดยความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษาเท่ากับ 3.55×106 Unit/L (3.55×108 ตัว/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งในฤดูร้อนจะพบความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุดมีความหนาแน่นเท่ากับ 1.64×106 Unit/L (1.64×108 ตัว/ลูกบาศก์เมตร) และในฤดูฝนพบความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์น้อยที่สุดมีความหนาแน่นเท่ากับ 5.93×105 Unit/L (5.93×107 ตัว/ลูกบาศก์เมตร) อีกทั้งพบว่า ปริมาณความเข้มข้นของสารแอมโมเนีย ไนไตร์ท ไนเตรท และฟอสเฟตละลายน้ำ พบได้ปริมาณมากที่สุด
ในฤดูร้อน และพบได้น้อยที่สุดในฤดูฝน ในขณะที่สารซิลิเกตละลายน้ำพบได้ปริมาณมากที่สุด
ในฤดูฝนและพบได้น้อยในฤดูร้อน ในขณะที่ปริมาณตะกอนแขวนลอยพบได้มากในฤดูหนาว และพบได้น้อยในฤดูฝน ผลการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ พบว่า แพลงก์ตอนสัตว์มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับฟอสเฟตละลายน้ำ ซิลิเกตละลายน้ำ อุณหภูมิ ปริมาณตะกอนแขวนลอย และความเค็ม