Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีและโลจิสติกส์เพื่อรองรับความต้องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออก โดยทำการศึกษาในพื้นที่
จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นตัวขับเคลื่อนสู่ Thailand 4.0 เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม
ที่ผ่านการตรวจคุณภาพเครื่องมือวิจัยและจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เก็บข้อมูลจาก
สถานประกอบการและสถานศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 165 ตัวอย่างโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบน
มาตรฐาน F-test และ One-way ANOVA ในการวิเคราะห์ข้อมูล และจัดเสวนาเพื่อร่วมแสดงความ
คิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ท่านและผู้เข้าร่วม จำนวน 194 ท่าน โดยกำหนดกรอบแนวทาง
การวิจัยไว้ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบัณฑิต 2) ด้านอาจารย์ 3) ด้านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับ
หน่วยงานต่าง ๆ 4) ด้านนโยบายรัฐบาล และ 5) ด้านการบริหารจัดการของสถานศึกษา ผลการศึกษา
พบว่าสถานประกอบการและสถานศึกษาในทั้ง 3 จังหวัดให้ความสำคัญด้านอาจารย์มากที่สุด
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติย่อยใน 5 ด้านที่มีความเห็นตรงกันระดับสูงสุดตั้งแต่ 2 จังหวัดขึ้นไปสถานประกอบการพบ 3 ด้าน 1) ด้านบัณฑิต ได้แก่ ทักษะด้านความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม 2) ด้านอาจารย์ ได้แก่ การเป็นแบบอย่างทางคุณธรรม จริยธรรม 3) ด้านการบริหารจัดการของสถานศึกษา ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรโดยการทำการวิจัยตามความต้องการของตลาดแรงงาน สถานศึกษาพบ 2 ด้าน 1) ด้านบัณฑิต ได้แก่ ความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมใหม่ ๆ การมีคุณธรรมและจริยธรรม และการมีทักษะด้านความร่วมมือและ
การทำงานเป็นทีม 2) ด้านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ การจัดให้ศึกษาดูงานเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ และการจัดอบรมให้บริการทางด้านวิชาการและวิชาชีพเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้