Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤกษเคมีเบื้องต้น ปริมาณสารประกอบฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์และแทนนิน และกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระในสารสกัดหยาบจากส่วนใบและส่วนหน่อของไผ่ชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ ไผ่สีสุก ไผ่ดา ไผ่น้ำเต้า ไผ่ป่าไร้หนาม ไผ่ซางนวล ไผ่รวก ไผ่โจด ไผ่เพ็ก และไผ่เลี้ยง โดยเก็บตัวอย่าง นำมาล้างทำความสะอาด ทำแห้ง บดให้ละเอียด สกัดโดยการต้มด้วยน้ำ และระเหยแห้งด้วยเครื่องระเหยสุญญากาศ เมื่อนำสารสกัดหยาบมาทดสอบพฤกษเคมีเบื้องต้นพบว่า
สารสกัดจากใบไผ่มีสารสำคัญกลุ่มฟลาโวนอยด์ ซาโปนินและแทนนิน แต่สารสกัดจากหน่อไผ่พบว่ามีเพียงซาโปนิน และพบว่าหน่อไผ่บางชนิดเท่านั้นที่มี
ฟลาโวนอยด์ เมื่อนำสารสกัดไปวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ และแทนนิน พบว่า สารสกัดจากใบไผ่มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์มากกว่าสารสกัดจากหน่อไผ่ และสารสกัดหยาบจากใบไผ่เลี้ยง (xThyrsocalamus liang) มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกมากที่สุด (6.02±0.16 มิลลิกรัมกรดแกลลิกต่อกรัมน้ำหนักตัวอย่างแห้ง) สารสกัดหยาบจากใบไผ่ซางนวล (D. membranaceus) มีปริมาณฟลาโวนอยด์สูงที่สุด (283.1 ±13.7 ไมโครกรัมเคอซิตินต่อกรัมน้ำหนักตัวอย่างแห้ง) เมื่อนำสารสกัดไปวิเคราะห์กิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระพบว่า กิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS มีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 20.0-63.7 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร โดยสารสกัดจากใบของไผ่เพ็ก (V. pusilla) (IC50 20.0) ไผ่ซางนวล (D. membranaceus) (IC50 24.0) และไผ่สีสุก (B. blumeana) (IC50 26.5) มีกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระดีกว่าสารมาตรฐานบีเอ็ชที (IC50 27.4)