Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการหาองค์ประกอบทางเคมี คุณสมบัติสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (ปริมาณของฟีนอลิกทั้งหมด, สารประกอบฟีนอลิก, ฟลาโวนอยด์ทั้งหมด, สารประกอบฟลาโวนอยด์, ไอโซ-ฟลาโวน) และการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยวิธี DHHP, ABTS และ FRAP assay ซึ่งใช้ Trolox เป็นสารมาตรฐานทางการค้าในการเปรียบเทียบในถั่วอัลฟัลฟ่าแห้งชนิดอัดเม็ด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินศักยภาพถั่วอัลฟัลฟ่าก่อนนำไปประยุกต์ใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคนมลูกผสมโฮลสไตน์ฟรีเชียนในระยะรีดนม เนื่องจากไอโซฟลาโวนเป็นสารประกอบธรรมชาติที่พบได้ในพืชวงศ์ถั่ว ซึ่งช่วยกระตุ้นการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตร เจนในร่างกาย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยทองและมีปัญหาอาการเกี่ยวเนื่องจากภาวะหลังหมดประจำเดือน ถั่วนอกจากจะเป็นแหล่งวัตถุดิบโปรตีนคุณภาพดีที่ได้รับความสนใจในแง่ของสารพฤษเคมีแล้ว ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในด้านการป้องกันโรคและเป็นสารโภชนเภสัชที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย ดังนั้นหากสามารถพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพจากการเสริมถั่วอัลฟัลฟ่าในอาหารโคนมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ทางเลือก (นมโคไอโซฟลาโวนสูง) ที่สามารถ
มีคุณสมบัติเป็นอาหารเชิงหน้าที่ป้องกันหรือลดการเกิดโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นด้าน
องค์ประกอบทางเคมี ปริมาณของฟีนอลิกทั้งหมด, ฟลาโวนอยด์ทั้งหมด, เดดซีนและเจนิสทีน ในถั่วอัลฟัลฟ่าแห้งชนิดอัดเม็ด เท่ากับ 18.17 เปอร์เซ็นต์โปรตีน, 2.42 mg GAE/g sample, 2.25 mg RE/g sample, 55.12 และ 25.92 μg/g sample ตามลำดับ และมีสารประกอบฟีนอลิกชนิด Gallic acid สูงที่สุด (215.30 μg/g sample) ปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์ Apigenin สูงสุดที่ 2,278.27 μg/g sample ขณะที่การเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ DPPH, ABTS และ FRAP assay เท่ากับ 46.69, 66.09 เปอร์เซ็นต์ และ 3.25 mgFe2+/g sample
โดยไม่พบปริมาณความเข้มข้นของไอโซฟลาโวนในรูปอนุพันธ์ของเดดซีน
และเจนิสทีนในตัวอย่างน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากแม่โคที่ไม่ได้รับถั่วอัลฟัลฟ่า
เป็นอาหารในครั้งนี้