Abstract:
โครงการวิจัยนี้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอุทกพลศาสตร์ ได้แก่ ระดับน้ำ คลื่น และกระแสน้ำ กับการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพและอัตราการรอดตายของต้นกล้าของต้นไม้ป่าชายเลนที่นำไปปลูกในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจริง และเพื่ออธิบายในเชิงปริมาณเกี่ยวกับสภาพอุทกพลศาสตร์วิกฤตอันเนื่องมาจากแรงกระทำทางอุทกพลศาสตร์สะสมที่มีผลต่อการรอดตายของต้นกล้าป่าชายเลนต้นกล้าป่าชายเลน 2 ชนิด ได้แก่ ต้นโกงกางใบใหญ่และต้นโกงกางใบเล็ก จำนวนทั้งหมด 240 ต้น ถูกนำไปปลูกในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณสะพายเลียบชายฝั่งจังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งมีการติดตั้งเครื่องวัดคลื่นและกระแสน้ำในบริเวณพื้นที่ศึกษา การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สนใจ ได้แก่ จำนวนใบ เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ความสูง และปริมาตรตัวแทนของต้นกล้า ระยะเวลาการศึกษาประมาณ 2 เดือน
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สภาพทางอุทกพลศาสตร์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของต้นกล้าป่าชายเลนอย่างชัดเจน พื้นที่บริเวณที่สภาพทางอุทกพลศาสตร์รุนแรงกว่า คือ บริเวณพื้นที่โซนนอกฝั่ง ต้นกล้ามีการเติบโตมากกว่าเพื่อการเอาตัวรอด แต่ในขณะเดียวกันมีอัตราตายสูงกว่าเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างต้นกล้าใบใหญ่กับต้นโกงกางใบเล็ก พบว่า ต้นโกงกางใบเล็กมีการเติบโตที่รวดเร็วและมีอัตราการตายที่น้อยกว่า แสดงให้เห็นว่า ต้นโกงกางใบเล็กทนต่อสภาพทางอุทกพลศาสตร์ได้ดีกว่าต้นโกงกางใบใหญ่
ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างแรงกระทำทางอุทกพลศาสตร์สะสมกับอัตราการตาย พบว่า
ทั้งสองตัวแปรมีความสัมพันธ์กันชัดเจนทั้งในต้นกล้าทั้งสองชนิด ความสัมพันธ์นี้สามารถช่วยในการประมาณสภาพทางอุทกพลศาสตร์วิกฤตต่อการตายของต้นกล้าที่ปลูกใหม่ได้ การหามาตรการช่วยป้องกันแรงกระทำเหล่านี้จะส่งเสริมให้อัตราการรอดตายของต้นกล้าและความสาเร็จในการฟื้นฟูป่าชายเลนเพิ่มสูงขึ้น