Abstract:
โครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นการนำความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานทางระบาดวิทยาร่วมกับนิเวศวิทยาของเชื้อมาลาเรียมาใช้ประโยชน์ในด้านการป้องกันและควบคุม
การแพร่กระจายโรคมาลาเรียโดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพทางแพทย์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยชนิดของเชื้อมาลาเรีย การดื้อต่อยารักษาของเชื้อ
ที่พบทั้งในคนและในยุงพาหะ ให้มีความจำเพาะและแม่นยำยิ่งขึ้น รวมทั้งสำรวจการดื้อต่อยาฆ่าแมลงของยุงพาหะในแต่ละพื้นที่ที่มีการรายงานพบการติดเชื้อมาลาเรีย โดยอาศัยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เข้ามาช่วยในการกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย (Malaria transmission site; MTS) ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปทำการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ในพื้นที่จังหวัดตราดพบพื้นที่ที่สามารถระบุให้เป็น MTS ได้ทั้งสิ้น 30 MTS ชนิดของยุงพาหะที่มีการตรวจพบเชื้อ Plasmodium vivax เป็นยุงพาหะหลัก คือ Anopheles dirus โดยเชื้อ Plasmodium vivax ที่พบทั้งในผู้ป่วยในพื้นที่และในยุงพาหะนั้นมีลักษณะการกลายพันธุ์ของยีน pvmdr1
โดยพบ double mutation คือ Y976F ร่วมกับ F1076L ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะพบในเชื้อที่ดื้อต่อยาคลอโรควินที่ใช้รักษาการติดเชื้อ Plasmodium vivax แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ของยีน pvcrt-o ยุงพาหะที่พบการติดเชื้อดังกล่าวอยู่ใน MTS ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ B1 แสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ การแพร่กระจายเชื้อที่ก่อให้เกิดมาลาเรียก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก
ยังพบยุงพาหะที่ติดเชื้อในพื้นที่ และไม่พบลักษณะการกลายพันธุ์ของยีน kdr
ที่ทำให้เกิดการดื้อต่อยาฆ่าแมลงของยุงพาหะในพื้นที่ ดังนั้นการเฝ้าระวังโรค
จึงต้องมีความรัดกุมและเร่งค้นหา ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการไปพร้อมกับการควบคุมยุงพาหะหลักในพื้นที่ที่เคยมีการรายงานพบผู้ป่วยมาลาเรียเพื่อเป็น
การสนับสนุนการกำจัดมาลาเรียพื้นที่ตราด