Abstract:
ในปัจจุบันมีระบบค้นหาหนังสือและระบบแนะนำหนังสือต่าง ๆ มากมาย เพื่อช่วยให้ผู้อ่านมีความสะดวกในการค้นหาและเลือกหนังสือที่ตนเองสนใจได้ดียิ่งขึ้น อาทิเช่น การค้นหาหนังสือจากความสอดคล้องของคำค้นหนึ่ง ๆ กับชื่อหนังสือหรือสารบัญหนังสือ การแนะนำหนังสือจากความนิยมของหนังสือ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดทั้งหมดไม่ได้มุ่งเน้นที่การแนะนำหนังสือจากความสอดคล้องของหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในชึ้นเรียน และไม่ได้มุ่งเน้นในการแนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ที่มีคำศัพท์เฉพาะทางค่อนข้างมากกับคำค้น ที่ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านได้รับการแนะนำที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ตนเองสนใจมากยิ่งขึ้น
งานวิจัยนี้ได้นำเสนอระบบแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม (Supplementary Books Suggestion system หรือ SBS system) เพื่อทำการแนะนำหนังสือหนังสืออ่านเพิ่มที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของคำอธิบายรายวิชาในหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนคือ 1) การรวบรวมคำศัพท์เฉพาะทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ 2) การรวบรวมข้อมูลคำอธิบายรายวิชาทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ 3) การสกัดคำสำคัญจากคำอธิบายรายวิชาและการสกัดคำสำคัญจากหนังสือ 4) การค้นหาหนังสือที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคำสำคัญในคำอธิบายรายวิชา และ 5) การคำนวณความเกี่ยวเนื่องของหนังสือที่ครอบคลุมคำสำคัญในคำอธิบายรายวิชา การจัดอันดับหนังสือที่มีความเกี่ยวเนื่องมากไปยังหนังสือที่มีความเกี่ยวเนื่องน้อย และการสร้างรายการแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับคำอธิบายรายวิชา โดยพิจารณารายการแนะนำหนังสือจำนวน N เล่ม โดยในงานวิจัยนี้พิจารณาค่า N ที่น่าสนใจที่ 10, 30, 50 และ 100 ตามลำดับ
ในการประเมินประสิทธิภาพของระบบแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมมี 2 ส่วน ได้แก่ 1) การวัดประสิทธิภาพของการสกัดคำสำคัญที่ใช้ในระบบ และ 2) การประเมินประสิทธิภาพของระบบแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่ซึ่งได้เปรียบเทียบกับวิธีการสกัดคำสำคัญที่ใช้ในระบบอีก 2 วิธีการคือ “Termine” และ “RAKE” โดยจากผลการประเมินสามารถสรุปได้ว่าระบบแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ใช้วิธีการสกัดคำสำคัญที่ใช้ในระบบมีประสิทธิภาพมากกว่าทั้ง 2 ระบบแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่นำมาเปรียบเทียบ ทั้งด้านประสิทธิภาพของการสกัดคำสำคัญและประสิทธิภาพของระบบแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม