Abstract:
ศึกษาสารสีแคโรทีนอยด์และสารสีแอนโทไซยานินรวมในสัตว์ทะเลกลุ่มดาวทะเลและกลุ่มปลิงทะเล โดยมีการศึกษาในดาวทะเล จำนวน 9 ชนิด คือ Linckia multiflora, Protoreaster nodosus, Pentaceraster gracilis, Linckia laevigata, Linckia guildingi, Linckia laevigata, Culcita schmideliana, Anthenea pentagonula และ Luidia maculate ส่วนในปลิงทะเล ที่ทำการศึกษา จำนวน 3 ชนิด คือ ปลิงหินหนาม (Stichopus horrens Selenka, 1867) ปลิงทะเลสีดำ (Holothuria leucospilota, Brandt 19835) และ ปลิงทะเลหนวดกิ่งไม้สีชมพูเหลือง (Cercodemas anceps, Selenka 1867) ซึ่งตัวอย่างที่ทำการศึกษาในครั้งนี้เก็บจากแหล่งธรรมชาติ บริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย ในการศึกษาชนิดและปริมาณสารสีแคโรทีนอยด์ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์หาชนิดละปริมาณสารสีด้วยเครื่อง HPLC ตามวิธีของ Britton และคณะ (1995) จากการศึกษาพบว่าสารสี astaxanthin เป็นแคโรทีนอยด์ที่พบในปริมาณสูงกว่าแคโรทีนอย์อีก 5 ชนิด ที่ทำการศึกษา (beta-carotene, cantaxanthin, echineneone, zeaxanthin และ lutein) ในสัตว์ทะเลกลุ่มดาวทะเลและปลิงทะเล โดย astaxanthin พบในปริมาณสูงสุดเมื่อทำการศึกษาในดาวทะเล Linckia laevigata คือ 27881.92 µg/g ของน้ำหนักเปียก และพบต่ำสุดในดาวแสงอาทิตย์ Luidia maculate (13.59 µg/g ของน้ำหนักเปียก) ส่วนในปลิงทะเลพบมีปริมาณสูงในปลิงทะเลกิ่งไม้สีชมพู (167.51 µg/g ของน้ำหนักเปียก) สารสีแคโรทีนอยด์ชนิด zeaxanthin และ lutein พบว่าแคโรทีนอยด์ทั้งสองชนิดนี้พบมากสุดในดาวทะเลเหลืองแดง (Linckia multiflora) คือ 41.74 µg/g ของน้ำหนักเปียก ส่วนในปลิงทะเลพบว่ามีปริมาณสารสีแคโรทีนอยด์ชนิดนี้สูงสุดในปลิงทะเลกิ่งไม้สีชมพู (2.58 µg/g ของน้ำหนักเปียก) ในการศึกษาครั้งนี้พบว่าสารสีแคโรทีนอยด์ชนิด beta-carotene, cantaxantthin และ echinenone พบในปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับ astaxanthin, zeaxanthin และ lutein ส่วนในการศึกษาสารสีแอนโทไซยานินรวมในสัตว์ทะเลกลุ่มดาวทะเลและปลิงทะเลนั้นพบว่ามีปริมาณของแอนโทไซยานินรวมสูงสุดเมื่อทำการศึกษาในดาวทะเลหมอนปักเข็ม คือ 4.49 µg/g ของน้ำหนักเปียกและในการศึกษาสารแอนโทไซยานินในสัตว์ทะเลกลุ่มปลิงทะเล พบว่ามีปริมาณสูงสุดในปลิงทะเลกิ่งไม้สีชมพู คือ 1.5 µg/g ของน้ำหนักเปียก