Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ในเขตภาคเหนือตอนบน และเพื่อตรวจสอบรูปแบบสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ด้วยวิธีการวิจัยแบบผสม โดยศึกษาจากผู้ใช้ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง แบบเจาะจง จำนวน 9 คน โรงเรียนยอดนิยม 3 แห่ง เก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการศึกษาเอกสาร (Document Study) การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการบันทึกแบบภาคสนาม (Participant Observation and Field-Note) การสัมภาษณ์ระดับลึก (In-Depth Interview) การสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญ (Expert Interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)
ผลการวิจัย พบว่ารูปแบบการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสถาบันศึกษาขั้นพื้นฐานยอดนิยมในเขตภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยหลักสำคัญ 7 ประการ คือ การคิดอย่างเป็นระบบ การรอบรู้ส่วนตน การมีวิสัยทัศน์ร่วม แบบแผนความคิด การเรียนรู้เป็นทีม บรรยากาศความไว้ใจและความร่วมมือ และ การพัฒนาวิชาชีพ แต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์ส่งต่อกันและกันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนผลการตรวจสอบรูปแบบความสามารถในการนำรูปแบบการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับมาก ประเด็นที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในระดับสูงสุด คือ การมีวิสัยทัศน์ร่วม การเรียนรู้เป็นทีม และการพัฒนาวิชาชีพ รองลงมา คือ การรอบรู้ส่วนตน และการคิดอย่างเป็นระบบ ส่วนประเด็นที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ในระดับปานกลาง สูงสุด คือ บรรยากาศความไว้ใจและความร่วมมือ