Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาบทละครเวทีที่เสนอทัศนะทางสังคมและการเมืองต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยังปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เรื่อง ได้แก่ ก่อนอรุณจะรุ่ง คือผู้อภิวัฒน์ ความฝันกลางเดือนหนาว สอบถามยอดค้างชำระ OCT.6102519 โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร นายซวย ตลอดศก โดยกลุ่มละครมะขามป้อม
และบันทึกบนสนามหญ้าแดง โดยวิชญ์พล ดิลกสัมพันธ์ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ 2) เพื่อศึกษาการนำเสนอเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ในบทละคร 3) ศึกษาลักษณะเด่นด้านองค์ประกอบของบทละคร เนื้อหางานวิจัยแบ่งเป็น 5 บท ได้แก่ บทที่ 1 บทนำ กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาและจุดมุ่งหมาย บทที่ 2 จุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ บทที่ 3 การนำเสนอเหตุการ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ในบทละคร บทที่ 4 ลักษณะเด่นด้านองค์ประกอบของบทละคร บทที่ 5 สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ
ผลการศึกษาพบว่า บทละครเวทีกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะสร้างสรรค์หรือปรับปรุงใหม่เพื่อใช้ในการแสดงเนื่องในโอกาสการรำลึกถึงเหตุการณ์ทั้งสอง ผู้ประพันธ์นำเสนอเหตุการณ์ในสองลักษณะ ได้แก่ การอธิบายกระบวนการ และการแสดงผลกระทบ บทละครส่วนใหญ่มักนำเสนอแนวคิดเรื่องความล่มสลายของครอบครัวไทยอันเกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ประพันธ์มักกำหนดให้ตัวละครสำคัญเป็นชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลาง และกำหนดให้มีอาชีพเป็นชาวนา นักการเมือง ทหาร ตำรวจ พ่อค้า และนักศึกษา ความขัดแย้งหลักมักเป็นเรื่องชนชั้นทางสังคม มีการนำเพลงที่ใช้ในเหตุการณ์ทั้งสองมาบรรจุเพื่อสร้างบรยากาศ การนำเสนอมักไม่เน้นแนวสมจริง ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากการละครเอพิคของแบร์ททอลท์ เบรคชท์ การศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบถึงบทบาทของศิลปินด้านศิลปะการแสดงร่วมสมัยของไทยที่มีต่อเหตุการณ์ข้างต้น นอกเหนือจากคุณค่าทางด้านสุนทรียรสที่ได้ในฐานะวรรณกรรมการละคร