Abstract:
การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบผลประโยชน์ทับซ้อนในตลาดการค้าชายแดน กรณีศึกษาตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว
และค้นหาแนวทางการจัดการปัญหา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth-interview) การสนทนากลุ่ม (Focus group) ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 14 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างฝั่งไทย 7 คน ฝั่งกัมพูชา 7 คน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในตลาดการค้าชายแดนจังหวัดสระแก้ว (ตลาดโรงเกลือ) ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบผลประโยชน์ทับซ้อนมี อย่างนี้ 1) การแสวงหาค่าเช่าทางธุรกิจ 2) การมีส่วนได้ส่วนเสียส่วนตัว 3) การใช้นโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆไม่ถูกต้อง 4) การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ 5) การให้และรับสินบน 6) การใช้อำนาจหน้าที่หน่วยงานทางราชการในทางที่ผิด และ 7) รูปแบบอื่นๆ ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาควรทำอย่างเป็นระบบทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ โดยดำเนินการทั้ง 3 ส่วน คือ 1) หน่วยงาน/องค์การ ให้มีเจ้าภาพหลักและคณะทำงานที่ชัดเจนทั้งระดับบนและระดับพื้นที่ 2) ปรับปรุงระบบงาน เช่น ดำเนินงานตามกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) เกี่ยวกับการพัฒนาระบบงาน One stop service สิทธิพิเศษทางภาษีประเทศในกลุ่มอาเซียน (AISP) ความร่วมมือด้านการศุลกากรระหว่างประเทศ (single inspection ) ปรับปรุงงาน/ระบบราชการ ที่เป็นสาเหตุใหญ่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดประสิทธิภาพ ทบทวน/ ปรับปรุงกฎหมาย/ ระเบียบต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น สร้างระบบการตรวจสอบแบบย้อนกลับสองทาง นำระบบพัฒนาสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานสากลมาใช้ให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน 3) หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องปลูกฝังและสร้างคนดีที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่สำคัญ คือมีจิตสำนึกการดักในการเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม ควรนำหลักการบริหารราชการแบบธรรมาภิบาลมาใช้ในระบบราชการมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น