Abstract:
ความขัดแย้งระหว่างชุมชนป้อมมหากาฬกับกรุงเทพมหานครดูเหมือนเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการไล่รื้อชุมชนดังเช่นที่เกิดกับชุมชนอื่น ๆ เช่น ชุมชนสะพานหัน แต่ในความเป็นจริงพบว่า เป็นความขัดแย้งจากการนิยามคำว่า “วัฒนธรรม” ที่ต่างฝ่ายต่างถือนิยามที่แตกต่างกัน และความขัดแย้งยิ่งยืดเยื้อต่อไปเมื่อเชื่อมโยงสาระของวัฒนธรรมเข้ากับนิยามการพัฒนา จากแนวคิดของสจ๊วต ฮอลล์ พบว่า ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นจากการที่มีนิยามวัฒนธรรมที่หลากหลายและนิยามต่าง ๆ ต่างก็พยายามช่วงชิงอำนาจการนำ ประดุจการสู้รบในสนามรบโดยการสู้รบนี้จะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะนิยามที่มีบทบาทนำในวันนี้ก็ต้องพยายามรักษาสถานะของตนเอง ชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งไม่มีออำนาจตามกฎหมาย จำต้องอาศัยประชาชนทั่วไป นักวิชาการ และภาคประชาสังคมมาร่วมกันสร้างนิยามและความชอบธรรมในนิยามด้วยการสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนให้ชัดเจนขึ้นผ่านสื่อต่าง ๆ ในขณะที่กรุงเทพฯ ที่มีอำนาจตามกฎหมายและดำเนินการต่าง ๆในฐานะตัวแทนของประชาชนและการนำเสนอถึงเจตนาดีในการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ ก็ได้ใช้สิ่งนี้ในการเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน