Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีสของชาวนาในจังหวัดชัยนาท กลุ่มตัวอย่างเป็นชาวนาที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวในจังหวัดชัยนาท ปีพ.ศ.2553 จำนวน 393 คน ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็ยรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยพบว่า ชาวนามีการรับรู้โอกาสเสี่ยงการเกิดโรคเลปโตสไปโรซีส การรับรู้ความรุนแรงของโรคเลปโตสไปโรซีส การรับรู้ประโยชน์และอุปสรรคของการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส และพฤติกรรมการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส ในระดับปานกลาง (M=2.13, SD=0.72, M=2.12, SD=0.89, M=1.84, SD=0.99, และ M=2.32, SD=0.42 ตามลำดับ) ปัจจัยที่สัมพันธ์และสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีสได้อย่างมนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การรับรู้ความรุนแรงของโรคเลปโตสไปโรซีส (Sev) การรับรู้ประโยชน์และอุปสรรคของการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส (PbnPbr) ประสบการณ์การเกิดบาดแผลจากการประกอบอาชีพทำนา (Exp) และระยะเวลาในการประกอบอาชีพทำนา (Time) แลทั้งสี่ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีสได้ ร้อยละ 12 ซึ่งสามารถเขียนสมการการทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีสในรูปคะแนนดิบ ได้ดังนี้ Beh = 2.00 + 0.11 (Sev) + 0.05 (PbnPbr) -0.004 (Exp) +0.004 (Time)
จากผลการวิจัยนี้ พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนควรส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีสของชาวนา โดยเน้นการสร้างการรับรู้ความรุนแรงของโรคเลปโตสไปโรซีส และการรับรู้ประโยชน์และอุปสรรคของการป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีสอย่างเป็นประจำและต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะผู้มีประสบการณ์การเกิดบาดแผลบ่อยครั้ง