Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทำนาย เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายวิธีการเผชิญความเครียดของบิดามารดาที่มีเด็กป่วยเรื้อรัง โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีความเครียดและการเผชิญความเครียดของลาซารัสและโฟล์แมน และทฤษฎีความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยของมิเชล กลุ่มตัวอย่างเป็นบิดามารดาที่มีเด็กป่วยเรื้อรังในหอผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี จำนวน 133 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย และแบบวัดวิธีการเผชิญความเครียด โดยมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าครอนบาคของแบบวัดความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย และแบบวัดวิธีการเผชิญความเครียดเท่ากับ .80 และ .84 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีวิธีการเผชิญความเครียดโดยรวม และรายด้านระดับปานกลาง ยกเว้นวิธีการเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์อยู่ในระดับน้อย ใช้วิธีการเผชิญความเครียดด้านการเผชิญปัญหามากที่สุด รองลงมา คือ ด้านการแก้ปัญหาทางอ้อม วิธีการเผชิญความเครียดที่ใช้น้อยที่สุด คือการจัดการกับอารมณ์ ปัจจัยทำนายวิธีการเผชิญความเครียดของบิดามารดาเด็กป่วยเรื้อรังพบว่า
1. ความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย ด้านความคลุมเครือเกี่ยวกับการเจ็บป่วย สามารถทำนายวิธีการเผชิญความเครียดด้านการเผชิญปัญหาได้ ร้อยละ 4 (p < .01)
2. อายุและความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วย ด้านการขาดความชัดเจนของข้อมูล สามารถร่วมทำนายวิธีการเผชิญความเครียด ด้านการจัดการกับอารมณ์ได้ ร้อยละ 10 (p < .05)
ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการพยาบาลแก่บิดามารดาที่มีเด็กป่วยเรื้อรังให้สามารถปรับพฤติกรรมวิธีเผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสมต่อไป และศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวิธีการเผชิญความเครียดของบิดามารดาที่มีบุตรป่วยด้วยโรคอื่น