Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวันผลก่อน-หลังครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจผู้ดูแลเด็กสมองพิการโดยเปรียบเทียบความสามารถและความรู้สึกเป็นภาระในการดูแลเด็กสมองพิการระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ดูแลเด็กสมองพิการที่นำเด็กมารับการรักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี จำนวน 20 ราย สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจที่พัฒนาตามแนวคิดของ Gibson (1995) ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติของโรงพยาบาล เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจผู้ดูแลเด็ก แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความสามารถ และแบบสอบถามความรู้สึกเป็นภาระของผู้ดูแลเด็กสมองพิการ มีค่าความเชื่อมั่นของแอลฟ่าครอนบาคเท่ากับ .98 และ .93 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสัย และ Mann-Whitney U test ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ ผู้ดูแลเด็กในกลุ่มทดลองมีความสามารถในการดูแลเด็กสมองพิการสูงกว่าในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งคะแนนโดยภาพรวม (Z = -3.83, p< .001) และคะแนนรายด้าน ได้แก่ ด้านการดูแลทั่วไป (Z = -3.78, p< .001) ด้านการดูแลตามระดับพัฒนาการ (Z = -3.83, p< .001) และด้านการดูแลเมื่อมีการเจ็บป่วย (Z = -3.97, p< .001) และพบว่า ความรู้สึกเป็นภาระของผู้ดูแลเด็กสมองพิการในกลุ่มทดลองต่ำกว่าในกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งคะแนนในภาพรวม (Z = -3.78, p< .001) และคะแนนรายด้าน ได้แก่ ด้านการใช้เวลา (Z = -3.79, p< .001) และด้านความยากลำบาก (Z = -3.65, p< .001)
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพมีหน้าที่ดูแลเด็กป่วยและครอบครัว สามารถนำโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจไปประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยให้ผู้ดูแลเด็กมีความสามารถในการดูแลเด็กสมองพิการเพิ่มมากขึ้น และมีความรู้สึกเป็นภาระลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลทางบวกต่อสุขภาพจิตของผู้ดูแลและคุณภาพชีวิตของเด็กสมองพิการด้วย