Abstract:
การวิจัยเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายอาการกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการกำเริบเฉียบพลัน ภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา และมาติดตามการตรวจรักษา ณ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 91 ราย สุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินสภาพจิตจุฬา แบบประเมินความรุนแรงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แบบประเมินโรคร่วม แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความสม่ำเสมอในการปฏิบัติตามแผนการรักษา และแบบประเมินอาการกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยความตรงของแบบประเมินความสม่ำเสมอในการปฏิบัติตามแผนการรักษา และแบบประเมินอาการกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีค่าเท่ากับ .87 และ 1.00 ตามลำดับ ส่วนความเที่ยงด้วยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคของแบบประเมินภาวะซึมเศร้าและแบบประเมินความสม่ำเสมอในการปฏิบัติตามแผนการรักษา มีค่าเท่ากับ .80 และ .76 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยสถิติพรรณนา สถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน สถิติสหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรุนแรงของอาการกำเริบเฉียบพลันระดับปานกลางมากที่สุด (ร้อยละ 41.8) จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ พบว่า ความสม่ำเสมอในการปฏิบัติตามแผนการรักษา และโรคร่วมสามารถร่วมกันทำนายอาการกำเริบเฉียบพลันได้ (ร้อยละ 73.20) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .732; F (2, 88) = 120.21, p < .001) ดังนั้นพยาบาล
ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรส่งเสริมความสม่ำเสมอ
ในการปฏิบัติตามแผนการรักษาและให้ความสำคัญในการควบคุมโรคร่วม