Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการกลัว ความล้มเหลว การรับรู้ความสำคัญของการแข่งขัน ความวิตกกังวลก่อนการแข่งขันในนักกีฬาเยาวชน การทดสอบโมเดลสมมติฐานครั้งนี้ใช้โปรแกรมลิสเรล 8.53 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 20 จำนวน 1,099 คน (ชาย 615 คน, หญิง 484 คน) อายุ 10-18 ปี เล่นกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี่มา 1-12 ปี จากกีฬาประเภททีม 677 คน และประเภทบุคคล 422 คน ตอบแบบสอบถามการกลัวความล้มเหลว TPFAI (Conroy et al., 2003; Ladda, in press) แบบสอบถามความวิตกกังวล CSAI-2TR (Cox, Martens & Russell, 2004; Martens et al., 1990; Muangnapoe, 1994) และคำถามของระดับการให้ความสำคัญของรายงานการแข่งขัน: PMI ผลการศึกษาพบว่า โมเดลสมมติฐานมีความเหมาะสมกับข้อมูลที่ใช้ศึกษาทั้งข้อมูลโดยรวม และข้อมูลในโมเดลที่แยกเพศชายและเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรในโมเดลเป็นไปตามสมมติฐานเพียงบางส่วน โดยผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่า การกลัวความล้มเหลว มีผลต่อความวิตกกังวลก่อนการแข่งขัน แต่ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการกลัวความล้มเหลวกับการรับรู้ความสำคัญของการแข่งขัน และการรับรู้ความสำคัญของการแข่งขันกับความวิตกกังวลก่อนการแข่งขันไม่เป็นไปตามสมมติฐาน โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงว่า 1) การกลัว
ความล้มเหลวไม่ส่งผลต่อการรับรู้ความสำคัญของการแข่งขัน นอกจากนี้ 2) การรับรึความสำคัญของการแข่งขันมีความสัมพันธ์เชิงลบ (ผูกพัน) กับความวิตกกังวลทางกาย และ 3) การรับรู้ความสำคัญของการแข่งขันไม่มีผลต่อความวิตกกังวลทางความคิด ซึ่งผลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรในโมเดลนี้ไม่แปรเปลี่ยนในกลุ่มของนักกีฬาเยาวชนชายและนักกีฬาเยาวชนหญิงผลการวิจัยครั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การวิจัยครั้งนี้สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกลัวความล้มเหลวกับผลที่เกิดขึ้น และความวิตกกังวลก่อนการแข่งขันกับแหล่งที่มาของความวิตกกังวลก่อนการแข่งขันในกีฬาระดับเยาวชน