Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสมดุลของพลังงานจากสารอาหารและกิจกรรมการออกกำลังกาย กลุ่มประชากรเป็นนักจักรยานที่เข้าร่วมโครงการปั่นหลังวัยเกษียณที่ปั่นจักรยานครบระยะทาง 5,000 กม. จำนวน 14 คน เพศชาย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปแบบบันทึกอาหาร 3 วันโดยการสัมภาษณ์และการบันทึกกิจกรรม 24 ชั่วโมง วัดสัดส่วนร่างกาย จากน้ำหนักตัว ส่วนสูง ดัชนีมวลกาย การวิเคราะห์ข้อมูลอาหารที่รับประทานใช้โปรแกรมอินมูแคล 4 ของสถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และการคำนวณค่าสถิติพื้นฐานจากค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผลการศึกษาพบค่าเฉลี่ยของอายุ 59±6 ปี น้ำหนัก 62±7 กก และส่วนสูง166±3 ซม ดัชนีมวลกาย 22±2 ตารางเมตร โดยได้รับพลังงานเฉลี่ยต่อวัน 3,260±1832 กิโลแคลอรีต่อวัน (53 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม/วัน) ความสมดุลของสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีนอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมในการใช้พลังงานแบบอดทน (60:25:14) โดยมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่ได้รับจำนวน 7 กรัม/กิโลกรัม/วัน ปริมาณโปรตีนได้รับจำนวน 1.3 กรัม/กิโลกรัม โดยสารอาหารแคลเซียมที่ได้รับต่อวันไม่สมดุลกับ% DRI (ปริมาณแคลเซียม 838± 483) การใช้พลังงานโดยรวมใน 24 ชั่วโมงพบว่าใช้พลังงานเฉลี่ยต่อวัน 3,440±1832กิโลแคลอรีต่อวัน (55 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม/วัน) สรุปว่าผู้สูงอายุที่มีการออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยานทางไกลที่เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกประเภทความอดทนมีการใช้พลังงานสมดุลแบบทางลบ โดยส่งผลดีกับการลดการสะสมไขมัน ส่วนสารอาหารบางชนิดเช่นแคลเซียมยังได้รับไม่เพียงพอ จึงควรมีการรับประทานอาหารให้สมดุลต่อการฝึกซ้อมและการออกกำลังกายจากการปั่นจักรยานเพื่อการมีสุขภาพที่ดีต่อไป