Abstract:
การศึกษาเชิงภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการสื่อสารของบุตรสาวกับมารดาเกี่ยวกับความเสี่ยงทางเพศและพฤติกรรมทางเพศในนักเรียนหญิง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างบุตรสาวกับมารดา ปัจจัยด้านจิตสังคมกับการมีเพศสัมพันธ์
การสำรวจนี้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่ตอบด้วยตนเองจากนักเรียนหญิงอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 550 คน พื้นที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐบาล ในจังหวัดชลบุรี เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสอบถามการสื่อสารของบุตรกับมารดาเกี่ยวกับความเสี่ยงทางเพศ แบบสอบถามทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับความเสี่ยงทางเพศ แบบสอบถามการรับรู้ในความสามารถของตนเองในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และแบบวัดพฤติกรรมทางเพศ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การหาความสัมพันธ์ของเพียร์สันและสถิติถดถอยลอจิสติกส์แบบหลายตัวแปรร่วม (Multiple logistic regression)
ผลการศึกษา พบว่า วัยรุ่นรับรู้ว่ามารดาของตนมีความถี่และความสะดวกใจในการพูดคุยเรื่องกับตนเองอยู่ในระดับค่อนข้างตํ่า ร้อยละ 29 ของวัยรุ่นหญิงตอบว่าเคยมีประสบการณ์มีเพศสัมพันธ์แล้ว การวิเคราะห์หลายปัจจัยร่วม พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการมีเพศสัมพันธ์คือ ความตั้งใจในการมีเพศสัมพันธ์ (AOR = 14.75, 95% CI = 8.61-25.27 รองลงมาคือ การรับรู้การมีเพศสัมพันธ์ของเพื่อน (AOR 2.51, 95% CI = 1.51-4.17) การรับรู้ความสามารถในการปฏิเสธ
การมีเพศสัมพันธ์ (AOR 2.34, 95% CI = 1.41-3.89) และความไม่สะดวกใจในการพูดคุยมีอิทธิพลต่อการมีเพศสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (AOR = 1.65, 95% CI = 1.00-2.74)
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าบุคคลากรทางสาธารณสุขควรมีบทบาทในการอบรมทักษะชีวิตในการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ การปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมของวัยรุ่นเกี่ยวกับการเริ่มมีเพศสัมพันธ์ และส่งเสริมให้มารดามีการสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรสาววัยรุ่นมากขึ้น