Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการเผชิญการเจ็บครรภ์คลอดของมารดาที่มีการคลอดครั้งแรก กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มอย่างง่ายจากมารดาหลังคลอดปกติที่มีการคลอดครั้งแรก จำนวน 100 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสถิติไค-สแควร์
ผลการวิจัยพบว่า วิธีที่มารดาใช้ในการเผชิญการเจ็บครรภ์มากที่สุดคือ วิธีการหายใจช้าลึก (ร้อยละ 68) การบอกตนเองให้อดทน (ร้อยละ 46) และการเกร็งตัวและบีบกำสิ่งของ (ร้อยละ 42) ส่วนวิธีที่ดีที่สุดในการเผชิญการเจ็บครรภ์คลอดคือ การมีพยาบาลผดุงครรภ์ หรือบุคคลสำคัญในครอบครัวอยู่ด้วย ปลอบโยน ให้กำลังใจ และการเคลื่อนไหวร่างกาย เปลี่ยนท่าทาง เกร็งตัว กำสิ่งของแน่น ๆ คิดเป็นร้อยละเท่า ๆ กัน (ร้อยละ 30) กลุ่มมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และกลุ่มมารดาที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีการรับรู้วิธีที่ดีที่สุดในการเผชิญการเจ็บครรภ์คลอดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X2 = 9.08, df = 3, P-value = .03) โดยร้อยละมากที่สุดของมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี (ร้อยละ 42.9) รับรู้ว่าการมีพยาบาลผดุงครรภ์หรือบุคคลสำคัญในครอบครัวอยู่ด้วย ปลอบโยน ให้กำลังใจ เป็นวิธีการเผชิญการเจ็บครรภ์คลอดที่ดีที่สุด ในขณะที่ร้อยละมากที่สุดของกลุ่มมารดาที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป (ร้อยละ33.8) รับรู้ว่าการอดทน ทำเพื่อลูก ทำจิตใจให้สงบ เป็นวิธีการเผชิญการเจ็บครรภ์คลอดดีที่สุด
ผลการวิจัยเสนอให้มีการจัดบริการชั้นเรียนเตรียมตัวเพื่อการคลอดแก่มารดาระยะตั้งครรภ์และครอบครัว เพื่อพัฒนาทักษะการเผชิญการเจ็บครรภ์คลอด และพยาบาลผดุงครรภ์ควรจัดให้มีบริการทางการพยาบาลที่ส่งเสริมให้บุคคลในครอบครัวมีส่วนร่วมในดูแลมารดาระยะคลอดโดยเฉพาะในมารดาที่มีอายุน้อยหรือมารดาวัยรุ่น