Abstract:
การอพยพมายังประเทศไทยตั้งแต่อดีตของคนจีน ได้ทำให้วิถีของชาวจีนในสังคมไทยมีความผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมไทย ขณะเดียวกันก็ยังพบว่าชาวจีนส่วนใหญ่ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของตนไว้อย่างเหนียวแน่น พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งทะเลและลุ่มแม่น้ำ และอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่มักเรียกว่า ตลาด หรือ “ตั๊กลัก” แม้ตลาดบางแห่งไม่ใช่ชาวจีนที่เป็นเจ้าของ แต่คนจีนก็ยังคงเป็นคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาด นอกจากนี้ชาวจีนจะมีความเชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษของตนมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและอำนวยการความผาสุกร่มเย็น ดังนั้น คนจีนจึงต้องจงรักภักดีและเคารพต่อผู้อาวุโสในครอบครัว ทั้งเมื่อผู้อาวุโสยังมีชีวิตอยู่และเมื่อผู้อาวุโสถึงแก่กรรมไปเพราะผีหรือวิญญาณบรรพบุรุษก็มีความสามารถพิเศษที่คนเป็นไม่อาจกระทำได้ คือ สามารถนำความสุขหรือภัยพิบัติมาให้แก่คนที่มีชีวิตอยู่ได้อิทธิพลของวัฒนธรรมจีนในภาคตะวันออกสะท้อนผ่านพิธีกรรมและประเพณีที่ผู้คนยึดถือ ปฏิบัติ และสืบทอดกัน อาทิ เทศกาลไหว้พระจันทร์ กินเจ เช็งเม้ง ตรุษจีน ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติจีนโบราณ เช่น พิธีการแต่งงาน การถือปฏิบัติเรื่องการแต่งงานของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำที่คุณแม่คนใหม่ต้องรู้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญมีบทบาทและความหมายที่ถือได้ว่า เป็นการตกผลึกทางความรู้ของชาวจีนที่ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไรวิถีชีวิตของชาวจีนที่ผูกพันกับครอบครัว เทศกาลและธรรมเนียมประเพณีแต่ดั้งเดิม ก็ยังคงดำรงเอกลักษณ์ของความเป็นคนจีนตลอดไป