Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้าใจและการปฏิบัติของผู้บริหารและครูปฐมวัยเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มของเด็กปฐมวัยในจังหวัดชลบุรี และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจและการปฏิบัติของผู้บริหารและครูปฐมวัยเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริหารจำนวน 196 คน และครูปฐมวัย จำนวน 392 คน ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาระดับปฐมวัยในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดความเข้าใจและแบบสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มของเด็กปฐมวัย สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์
ผลการวิจัยพบว่า (1) ความเข้าใจของผู้บริหารและครูปฐมวัยเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มของเด็กปฐมวัยโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้บริหารส่วนใหญ่ มีความเข้าใจมากที่สุดในการสรรหาครูผู้สอนที่จบการศึกษาสาขาการปฐมวัยและมีความเข้าใจน้อยที่สุดในการแนะนำครูตอบสนองต่อพฤติกรรมการเขียนของเด็กในแนวทางที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่ม และครูปฐมวัยส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากที่สุดในการส่งเสริมให้ครูจัดสภาพแวดล้อมด้วยสื่อตัวหนังสือที่มีความหมายต่อตัวเด็กและมีความเข้าใจน้อยที่สุดในการตอบสนองต่อพฤติกรรมการเขียนของเด็กในกรณีที่เด็กเขียนไม่ถูกต้องโดยไม่แก้ไขทันทีขณะที่เด็กพยายามเขียนจากการคิดวิธีสะกดขึ้นเองโดยผสมพยัญชนะและสระตามเสียงของคำที่พูดหรือได้ยิน (2) การปฏิบัติของผู้บริหารที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มพบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ปฏิบัติเหมาะสมโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ การกำนหนดเนื้อหาของหลักสูตรที่มีความหมายต่อตัวเด็กและสัมพันธ์กับความรู้เดิมของเด็ก การส่งเสริมครูให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กในการใช้ภาษาสื่อความหมายที่ถูกต้อง การแนะนำผู้ปกครองให้ยอมรับเด็กโดยรับฟังความคิดเห็นและรับรู้ความรู้สึกของเด็ก การแนะนำให้ครูนำผลการประเมินพัฒนาการทางภาษามาใช้การวางแผนจัดการเรียนรู้ทางภาษาที่เหมาะสม การกำหนดนโยบายให้ครูประสานงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชนในการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาเด็กที่เหมาะสม และการสนับสนุนครูให้เปิดโอกาสให้แก่เด็กได้ทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กับผู้อื่น ครูปฐมวัยส่วนใหญ่ปฏิบัติเหมาะสมโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้แก่ การนำผลการประเมินพัฒนาการทางภาษาไปใช้วางแผนจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม การสื่อสารกับผู้ปกครองให้ยอมรับและสนับสนุนพฤติกรรมการอ่านเขียนขั้นต้นของเด็ก การเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กในการใช้ภาษาสื่อความหมายที่ถูกต้อง การออกแบบตารางกิจวัตรประจำวันโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างกิจกรรมที่ครูริเริ่มและเด็กริเริ่ม การจัดทำหรือปรับปรุงหลักสูตรโดยคำนึงถึงบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทยและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริหารและครูปฐมวัยปฏิบัติไม่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มในด้านการจัดประสบการณ์ทางการอ่านเขียน โดยเน้นการท่องจำหรือทำแบบฝึกหัดอ่านเขียนอย่างเป็นทางการ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจและการปฏิบัติของผู้บริหารและครูปฐมวัยเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มในทุกด้าน พบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับต่ำมากในทิศทางบวกโดยเฉพาะด้านการประเมินพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มและด้านการส่งเสริมความเข้าใจของผู้ปกครองในการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางภาษาแรกเริ่มมีความสัมพันธ์กันอยู่ในระดับต่ำในทิศทางลบ