Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจให้แก่นักท่องเที่ยวในการสืบค้นข้อมูลเชิงพื้นที่ประกอบการวางแผนการเดินทาง และระบบประเมิณศักยภาพทรัพยากรนันทนาการและช่วงชั้นโอกาสด้านนันทนาการภายในจังหวัดจันทบุรี โดยศักยภาพทรัพยากรนันทนาการประเมินจาก 10 กลุ่มตัวชี้วัด อันได้แก่ (1) ความโดดเด่นของสังคมพืช (2) โอกาสในการพบเห็นสัตว์ป่า (3) ความโดดเด่นทางกายภาพของบานทรัพยากร (4) คุณภาพด้านทัศนียภาพของภูมิทัศน์ (5) นัยสำคัญด้านการสื่อความหมาย (6) ความเหมาะสมของทรัพยากรต่อการประกอบกิจกรรมนันทนาการ (7) ความคงทนของสภาพแวดล้อม (8) ความเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น (9) ความปลอดภัย และ (10) ภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว ส่วนช่วงชั้นโอกาสด้านนันทนาการประเมินได้จาก 7 กลุ่มตัวชี้วัด อันได้แก่ (1) การเข้าถึงพื้นที่ (2) ความห่างไกล (3) ความเป็นธรรมชาติ (4) โอกาสการพบปะผู้คน (5) ร่องรอยผลกระทบจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ (6) สิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพการจัดการ (7) การจัดการนักท่องเที่ยว โดยที่ทั้ง 2 ระบบจัดทำในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเว็บ เพื่อใช้บ่งชี้สถานภาพของแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการตัดสินใจให้แก่ผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยวในการวางแผนพัฒนาฐานทรัพยากรการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังได้ทำการประเมินการรับรู้ของนักท่องเที่ยวต่อความแออัดและผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใน แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ 4 ประเภทในจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ น้ำตก จุดชมวิว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และชายหาด พบว่าการรับรู้ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รับรู้ได้ว่าแหล่งท่องเที่ยวเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรู้สึกว่าคุณภาพประสบการร์การท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป