Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น
ในการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบหวายโสมและอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่า จังหวัดชลบุรี จากการที่จังหวัดชลบุรีถูกจัดให้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว และเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น นิคมแหลมฉบัง ทำให้มีการขยายตัวของชุมชนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน เป็นสาเหตุให้ความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนมีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ โดยเฉพาะน้ำประปาและน้ำเพื่อ
การอุตสาหกรรมและการเกษตร สำหรับบริเวณเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งน้ำที่รมชลประทานได้ก่อสร้างไว้แล้วที่สำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำประชัน อ่างเก็บน้ำชากนอก อ่างเก็บน้ำหนองกลางดง อ่างเก็บน้ำห้วยขุนจิต และอ่างเก็บน้ำห้วยสะพาน โดยมีโรงกรองน้ำ 3 แห่งคือ โรงกรองน้ำหนองกลางดง โรงกรองน้ำมาบประชัน และโรงกรองน้ำชากนอก เพื่อใช้สำหรับผลิตน้ำประปา แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำที่เพิ่ม สำนักชลประทานที่ ๙ ได้เล็งเห็นความจำเป็นจะต้องจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นทั้งเพื่อการท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรมและการเกษตร ในเขตพื้นที่เมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาเพื่อหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ในการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบหวายโสม และอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่าจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มหรือประเด็นที่สำคัญตามความจำเป็นในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ในระยะการก่อสร้างและหลังการก่อสร้าง
ผลการศึกษาพบว่า แนวทางการป้องกันผลกระทบด้านภูมิอากาศและและอุทกวิทยาน้ำผิวดิน โดยระยะการก่อสร้างต้องมีการควบคุมฝุ่นละอองและควันจากเครื่องจักร ความเร็วของรถ และการปรับปรุงผิวจราจร ในการวางท่อส่งน้ำกำหนดให้เป็นท่อคอนกรีตเพื่อป้องกันปัญหาการรั่วซึม การแตกหักเสียหายจากความเร็วของน้ำ บริเวณจุดตัดของท่อส่งน้ำกับลำน้ำอื่นจุดตัดท่อส่งน้ำกับถนนให้ใช้ท่อส่งน้ำลอดใต้ถนน การปลูกพืชคลุมดินป้องกันการกัดเซาะพงทลายของดิน การสร้างคันดินและบ่อดักตะกอน ระบบสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะ การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยของเสียลงในอ่าง การระบายน้ำเสียจากอ่าง การสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวม ด้านระบบนิเวศวิทยาทางน้ำและการประมง ให้มีการสร้างคูดักตะกอนรอบพื้นที่ที่มีการขุดหน้าดินหรือขุดตัก ห้ามไม่ให้มีการประมงใด ๆ บริเวณต้นน้ำเหนือเขื่อนและให้มีการควบคุมปริมาณการทำปะมงให้ถูกวิธีและ
ให้มีการควบคุมวัชพืชน้ำ ด้านการเกษตรและการชลประทานให้มีการควบคุมใช้น้ำตาม ความจำเป็นและในปริมาณที่พืชต้องการ การตั้งคณะกรรมการจัดสรรน้ำเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดสรรน้ำ ควบคุมการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการปราบศัตรูพืช ควบคุมการชะล้างสิ่งสกปรกและสารพิษลงในน้ำ ควบคุมการระบายน้ำจากชุมชนแลละอุตสาหกรรม มีการปรับปรุงระบบระบายน้ำ โดยการขุดลอกคลองและซ่อมแซมอาคารระบายน้ำในคลองต่าง ๆ การใช้ผนังกั้นตามแนวแม่น้ำและเสริมคันดินเดิมที่มีอยู่บริเวณพื้นที่โครงการ ด้านเศรษฐกิจและสังคม
ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจขั้นตอนและระยะเวลาในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แนะนำเกษตรกรปลูกพืชระยะสั้น ประสานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้คำปรึกษาและนำช่วยเหลือ กำหนดช่วงเวลาและเส้นทางที่ใช้ในการอพยพ ประสานจัดหายานพาหนะในการขนย้าย ในด้านการศึกษาให้ประสานสถานศึกษาเดิมเพื่อให้ความช่วยเหลือ สำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อประชาชนมาอยู่รวมกัน โดยให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกและจัดระบบการอยู่รวมกัน ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิบทบาทและกฎระเบียบ ต่าง ๆ ด้านการชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน มีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบในการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบหวายโสม รวมทั้งสิ้น ๑๑๑ แปลง เนื้อที่รวม ๑,๑๗๖.๒๒ ไร่ และอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่า ผู้ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น ๕๖ แปลง เนื้อที่รวม ๓๗๗.๘ ไร่ ควรมีการชี้แจงทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งพร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย กองกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน สำนักงานที่ดินจังหวัด นายอำเภอ และผู้แทนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกำหนดค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินให้ยุติธรรม
และเหมาะสมต่อไป