Abstract:
การวิจัยเรื่องอัตลักษณ์ไทยที่ปรากฏในนโยบายต่างประเทศยุคปรับปรุงประเทศ (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตามแบบตะวันตก มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ไทยในยุคปรับปรุงประเทศของไทยในช่วงที่ถูกจักรวรรดินิยมตะวันตกคุกคาม และเพื่อศึกษาหารนำอัตลักษณ์ไทยมาใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และผลที่ได้รับ ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Method) โดยรวบรวมข้อมูลและเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งเอกสารชั้นต้น และชั้นรอง
ผลของการวิจัยพบว่า ในยุคปรับปรุงประเทศ พระบาทสมเด็กพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็กพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำอัตลักษณ์ไทยมาใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อผ่อนปรนการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อผ่อนปรนความตึงเครียดอันเกิดจากการคุกคามของจักรวรรดินิยม ตะวันตกแทนที่จะใช้วิธีการต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจด้วยกำลังเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน อัตลักษณ์ไทยที่นำมาใช้ ได้แก่
๑. การประนีประนอม
๒. การถ่วงดุลอำนาจ
๓. การประสานประโยชน์
พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้วิธีการประนีประนอมตามความต้องการของจักรวรรดินิยมตะวันตก ด้วยการยอมเสียดินแดนที่เคยเป็นรัฐบรรณาการของไทยให้แก่ฝรั่งเศส และอังกฤษ ยอมขายข้าวเป็นสินค้าส่งออก และยอมให้สิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขตแก่คู่สัญญา พระองค์ยังทรงใช้อัตลักษณ์ไทยในการประสานประโยชน์ด้วยการยอมรับความรู้ วิธีวิทยา และเทคโนโลยีหลายด้าน จากจักรวรรดินิยมตะวันตก ผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถดำรงรักษาเอกราชไว้ได้ และยังนำประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ตามแบบตะวันตกทั้งในด้านการเมืองการปกครอง ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจได้อีกด้วย