Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาและนำเสนอแบบจำลอง (Model) ของความเป็นไปได้ในการสร้างห้องสมุดดิจิทัล เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลผ่านเครือข่ายร่วมมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออก โดยผู้วิจัยได้ปรึกษาและเปรียบเทียบความต้องการห้องสมุดดิจิทัลสำหรับการเรียนการสอนทางไกลผ่านเครือข่ายร่วมมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกของผู้ใช้บริการ (อาจารย์และนิสิต/ นักศึกษา) จำแนกตามสถานภาพและสาขาวิชาของผู้ใช้บริการโดยการสำรวจความคิดเห็น รวมถึงได้ศึกษาปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลสำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนทางไกล ผ่านเครือข่ายร่วมมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกจากกลุ่มผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล โดยการใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ตลอดจนได้ศึกษาและสังเคราะห์สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาห้องสมุดดิจทัลสำหรับการสนับสนุนระบบการเรียนการสอนทางไกล หลังจากนั้นจึงได้นำข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนาแบบจำลองที่เป็นไปได้ในการสร้างห้องสมุดดิจิทัลเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับสนับสนุนระบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย (ครั้งที่ 1) แล้วจึงให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินชิ้นงานต้นแบบแล้วจึงปรับเปลี่ยนแบบจำลองครั้งที่ 1 ให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะกับผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รูปแบบที่แก้ไขแล้ว คือแบจำลองที่เป็นไปได้ในการสร้างห้องสมุดดิจิทัลเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับสนับสนุนระบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านเครือข่ายร่วมมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย (ครั้งที่ 2) ซึ่งประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การสนับสนุนของสถาบัน 2) วัตถุประสงค์ในการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล 3) คณะกรรมการดำเนินงาน 4) การบริหารจัดการและดำเนินงาน 5) เทคดนโลยีสารสนเทศ 6) การเข้าถึงสารสนเทศและการให้บริการ 7) ลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา 8) การประเมินผลและการควบคุมคุณภาพ/ มาตรฐาน